มติชนมติครู : ‘โควิด’ พลิกการศึกษาไทย สู่การเรียนรู้ที่แท้จริง

มติชนมติครู : ‘โควิด’ พลิกการศึกษาไทย สู่การเรียนรู้ที่แท้จริง

วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงแก่มวลมนุษยชาติในทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของมนุษย์ไม่สามารถจะดำรงอยู่ในวิถีเดิมได้อีกต่อไป จะต้องมีการปรับตัวเองไปสู่ความปกติใหม่ (New Normal)

การศึกษานับเป็นอีกมิติหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด เพราะในภาวะปกตินั้น ระบบการศึกษาจะเน้นกระบวนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู อาจารย์ กับนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนการทำกิจกรรมในทั้งในสถาบัน และชุมชน ในโลกแห่งความเป็นจริง ต่อเมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการศึกษา ด้วยการปิดสถาบันการศึกษา และปรับตัวมาสู่การเรียนรู้ในโลกเสมือนจริงในโลกออนไลน์

กระบวนการเรียนการสอนในยุคโควิด-19 นี้ เทคโนโลยีดิจิทัล จึงมีบทบาทสำคัญ กลายเป็นพระเอก หรือกุญแจสำคัญในการเรียนรู้ของมนุษย์เพียงชั่วข้ามวัน หลังจากโลกแห่งการศึกษามีความพยายามอันยาวนานที่จะผลักดันให้เทคโนโลยีด้านการศึกษา (Educational Technology) มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่จะก่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม และก่อให้เกิดคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง

จนมีผู้กล่าวว่า “โควิด-19 ทำให้เกิดการอพยพการเรียนรู้จากโลกออฟไลน์มาสู่โลกออนไลน์ขนานใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพแบบฉับพลันกับระบบการศึกษาทั่วโลก กับทุกโรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครองทุกกลุ่ม ทุกคน กล่าวได้ว่า โควิด-19 เข้ามาทำให้ฝันของนักการศึกษา (ในโลกก่อนโควิด-19) เป็นจริงอย่างที่ไม่เคยคาดฝัน”(https://www.the101.world/inequality-in-education-and-covid-19/)

Advertisement

ทันทีที่มีการปรับกระบวนการเรียนการสอนผ่านโลกออนไลน์ ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินการในหลายๆ ด้าน ปัญหาแรกที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ปัญหาในการเข้าถึงการเรียนการสอนในโลกออนไลน์ ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ปกครองที่ไม่พร้อมในการที่จะจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจและทางสังคม ปัญหาทักษะทางด้านดิจิทัลของผู้สอน ที่จะผลิตสื่อการสอนที่มีคุณภาพ และใช้เทคนิคกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ตลอดถึงปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐที่จะมารองรับ

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ล้วนนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายของการจัดการศึกษา นั่นคือ คุณภาพของการศึกษา ว่ามีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งการศึกษาของไทยเอง ที่ดำเนินการศึกษาในรูปแบบปกติในสถาบันการศึกษาก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ประสบปัญหาในเรื่องของคุณภาพการศึกษาอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากความพยายามปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมากว่า 20 ปี ที่ไม่มีความคืบหน้ามากนัก ทั้งในด้านการปฏิรูปครู ปฏิรูปการเรียนรู้ การเพิ่มและกระจายโอกาส และคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ระบบบริหารจัดการ และการปรับระบบการใช้ ICT ในการศึกษา

ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกมิติ สิ่งที่ได้ยินกันอยู่เสมอในแวดวงการศึกษา ก็คือ ต้องมีการปฏิรูปแนวคิดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย โดยมองว่า รูปแบบการศึกษาแบบดั้งเดิมในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น เน้นย้ำแต่การเรียน และท่องจำเนื้อหาในสาระวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ สังคมศึกษา ซึ่งไม่เพียงพออีกแล้วในโลกแห่งการดำรงชีวิต และการทำงานภายใต้ความท้าทายใหม่ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญ

Advertisement

จึงมีการนำเสนอว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ต้องปรับเปลี่ยน หรือมีการปฏิรูปการเรียนรู้ใหม่ เพื่อสร้างผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง “ทักษะ” ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะในการคิด ทักษะในการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะด้านสารสนเทศและการสื่อสาร ควบคู่กับ “เนื้อหา” ในสาระวิชาหลัก และความรู้อื่นที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องโลก ความรู้ด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้ด้านพลเมือง ความรู้ด้านสุขภาพ และความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านหลักสูตรที่มีลักษณะบูรณาการ (Interdisciplinary Curriculum)

แท้จริงแล้ว การปฏิรูปการศึกษา แม้จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ครอบคลุมมิติต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ ผู้เรียน กระบวนการในจัดการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผล และด้านอื่นๆ แต่โดยรูปศัพท์แล้ว มีความหมายว่า “พลิกโอกาส” ก็ได้ หรือ “ย้อนกลับไปหารูปแบบเดิม” ดังที่เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า คำว่า “ปฏิรูป” มีความหมาย 2 อย่างคือ

1.ทำให้กลับเข้ารูปเดิม เพราะคำว่า “ปฏิ” ก็คือกลับไปเป็นอย่างเก่า หรือกลับเข้าที่ ส่วน “รูป” ก็คือ รูปแบบ เมื่อรวมเป็น “ปฏิรูป” จึงแปลว่า ปรับรูป หรือปรับให้กลับเข้าที่ คืออาจจะเกิดความเคลื่อนคลาดออกไป ก็ทำให้เข้ารูปเดิมที่ถูกต้อง

2.ทำให้เหมาะสม หมายความว่า ปรับแก้ให้เหมาะกับสภาพที่เป็นอยู่ เพื่อให้ได้ผลดีตามวัตถุประสงค์

สภาพของสังคมปัจจุบัน ที่เป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือยุคข่าวสารข้อมูล (Information Age) มีบทบาทเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการแพร่หลายและกระจายไปของข่าวสารข้อมูลอย่างมากมาย ทำให้มีแหล่งข้อมูลมากมาย และมีเครื่องมือในการหาความรู้ที่สะดวก รวดเร็ว เทคโนโลยีสารสนเทศได้คืนความรู้ คืนข่าวสารข้อมูลสู่ทุกๆ คน ทุกๆ ที่ และทุกๆ เวลา

และวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่การศึกษาต้องผ่านระบบออนไลน์ ทำให้การศึกษามีลักษณะเป็นการศึกษานอกระบบมากยิ่งขึ้น มองในแง่นี้ จึงเหมือนกับว่า เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทแทนครูอาจารย์ผู้ ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาการ ให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ แก่ผู้เรียนไปเรียบร้อยแล้ว

จึงนับเป็นบทบาท และหน้าที่ของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้บริหาร จะได้กระตุ้นให้นักเรียน นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดในด้านใดๆ ก็ตาม เพราะวิกฤตนี้ เป็นการพลิกโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันพัฒนาความสนใจในการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านบทบาทของตัวเอง และผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะนำไปสู่ความน่าสนใจในการเรียนรู้ สิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดการศึกษาแบบ Home School ที่ผู้ปกครองอาจจะขาดความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการศึกษาในระบบห้องเรียนในยุคโควิด-19 นี้ เข้ามามีบทบาทในการเลือกรูปแบบการเรียนให้ลูกของตน

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ย้ำเตือนเสมอว่า การปฏิรูปการศึกษานั้น ก็คือการกลับไปหาธรรมชาติที่มนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ ต้องพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ หรือเป็นนักเรียนนั่นเอง เมื่อมองดูถึงการเรียนรู้ของเด็กไทยในอดีต ก็จะพบว่า ในสังคมไทยเองก็มีหลักในการเรียนรู้ ที่เป็นทักษะพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความเป็นผู้คงแก่การเรียนรู้ เรียกว่า “หัวใจนักปราชญ์” คือ หลักที่บอกว่า “สุ.จิ.ปุ.ลิ วินิมุตฺโต กถํ โส ปณฺฑิโต ภเว. บุคคลผู้ปราศจากจากการฟัง การคิด การถาม และการเขียนแล้ว จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร” ซึ่งการพัฒนาทักษะดังกล่าวนั้น  ก็ผ่านทั้งบทบาทของครูอาจารย์ และผู้ปกครอง

แม้ไวรัสโควิด-19 ได้ปิดกั้นวิถีชีวิตแบบเดิม คือวิถีชีวิตแบบออฟไลน์ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปิดกั้นได้ก็คือ วิถีชีวิตแบบออนไลน์ ที่ข่าวสารข้อมูล หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) องค์ความรู้ต่างๆ ได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เป็นโอกาส และความท้าทายในการสร้างสรรค์สติปัญญา และการเรียนรู้ที่สำคัญ

การกระตุ้นเตือนให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ หรือตระหนักในความเป็นนักเรียนด้วยหลักหัวใจนักปราชญ์นี้ จึงยังเป็นหลักแห่งการศึกษา และเรียนรู้ที่สำคัญ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาเพื่อนำไปสู่ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 แท้จริงแล้ว ก็เป็นการกลับไปสู่พื้นฐานการเรียนรู้ของมนุษย์  (Return to Basic) 3 ประการ คือ การอ่าน การเขียน และการคิด นั่นเอง

ในยุคที่ไวรัสโควิด-19 ได้กักตัวผู้เรียน ครูอาจารย์ และผู้ปกครอง ให้อยู่ในสถานกักตัวที่บ้าน ไม่สามารถทำกิจกรรมการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาดังเดิมได้ ควรที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นครู อาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้บริหาร จะได้กระตุ้นให้นักเรียน นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดในด้านใดๆ ก็ตาม

เพราะวิกฤตนี้ เป็นการพลิกโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันพัฒนาความสนใจในการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านบทบาทของตัวเอง และผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะนำไปสู่การสร้างรูปแบบการศึกษาออนไลน์ที่มีความน่าสนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) เป็นสังคมที่ทุกคนมีบทบาททางการศึกษา (All for Education) และเป็นการศึกษาเพื่อคนทุกคน (Education for All) และในท้ายที่สุดก็จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดไป (Lifelong Learning)

ไวรัสโควิด-19 แม้จะสร้างวิกฤตให้แก่การศึกษาของไทยดังที่ได้กล่าวมา แต่ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการพลิกผู้เรียนให้กลับไปสู่ความเป็นนักเรียน หรือกลับไปสู่ความเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ได้ ก็อาจนับได้ว่า โควิด-19 ได้สร้างคุณค่าในการพลิกการศึกษาไทยไม่น้อย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image