วิกฤตโควิด วิกฤตการศึกษา หยุดเรียน-เลิกสอบ

วิกฤตโควิด วิกฤตการศึกษา หยุดเรียน-เลิกสอบ

กลายเป็นประเด็น หลังนักวิชาการเสนอให้หยุดการเรียนการสอนทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ อีกทั้งเผยผลวิจัยเด็กไทยเกิดความเครียด ทำให้โดดเรียนออนไลน์มากกว่า 20% ขณะที่ผลสำรวจทั่วโลกระบุว่าการเรียนออนไลน์ 1 ปี ทำให้การศึกษาถดถอยมากกว่า 50%

ล่าสุด โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ประกาศยกเลิกการสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ทุกระดับชั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความตึงเครียดให้นักเรียน ผู้ปกครอง และครู ประเมินว่าหากจัดสอบปลายภาคเรียนที่ 1 จะยิ่งสร้างความเครียดให้ทุกภาคส่วนมากขึ้น !!

หลายโรงเรียนเตรียมปรับแผนการประเมินผลการเรียนของนักเรียนทุกระดับชั้น ไม่เว้นกระทั่งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ออกมายอมรับว่า ขณะนี้โรงเรียนอยู่ระหว่างวางแผนร่วมกับนักเรียนและครูว่าจะสอบปลายภาคของภาคเรียนที่ 1/2564 หรือไม่ เพราะการเรียนในเวลานี้ทำให้นักเรียนล้าและทำให้ครูเหนื่อย

Advertisement

โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ออกมาชี้แจงว่า ทางโรงเรียนไม่จัดสอบกลางภาคและปลายภาค ของภาคเรียนที่ 1/2564 และให้สิทธิครูผู้สอนไปออกแบบการวัดและประเมินผลได้เอง เช่นเดียวกับภาคเรียนที่ 2/2564 ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ต้องเรียนออนไลน์ต่อ โรงเรียนอาจไม่จัดสอบกลางภาคและปลายภาค แต่จะให้ครูออกแบบการวัดและประเมินผลนักเรียนเอง

คำถามที่ตามมาคือ เมื่อไม่มีการสอบปลายภาคแล้ว จะกระทบกับการเลื่อนชั้นเรียน และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่ สำคัญที่สุด หากเด็กได้รับความรู้ไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเด็ก ม.6 ที่ต้องเลื่อนขึ้นไปเรียนในมหาวิทยาลัย

เรื่องนี้ นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (ผู้จัดการ TCAS) กล่าวว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ไม่ได้กังวลในเรื่องนี้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบ และเมื่อเด็กเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยก็ต้องมีการเรียนปรับพื้นฐาน เชื่อว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งเตรียมพร้อมเติมเต็มในส่วนนี้อยู่แล้ว

Advertisement

สำหรับการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยนั้น ยังต้องมีการจัดสอบเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ทั้ง วิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT วิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT แต่จะมีการปรับเนื้อหาข้อสอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเรียนของเด็กในปัจจุบัน ขณะที่คณะ/สาขาใดที่ใช้ผลการเรียนเฉลี่ย หรือจีพีเอ เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก ก็อาจต้องไปปรับเงื่อนไขในการรับเด็กเข้าเรียนต่อให้สอดคล้องด้วยเช่นกัน ส่วนภาพรวมการรับเด็กปีนี้จะมีการปรับอะไรบ้างนั้น คงต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป !!

ขณะที่ นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บอกคล้ายกันว่า มหาวิทยาลัยไม่กังวลเรื่องพื้นฐานความรู้ของเด็ก เพราะเป็นปัญหาภาพรวมทั้งประเทศ อีกทั้งค่อนข้างมั่นใจระบบการเรียนเพื่อปรับพื้นฐาน หากโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายก็คงต้องใช้การเรียนผ่านระบบออนไลน์ต่อไป ซึ่งจากผลการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยก็พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

และเท่าที่ทราบ ทปอ.น่าจะมีการปรับแนวทางการรับเด็ก แม้จะยังต้องมีการใช้คะแนนสอบ เพื่อเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่จะเน้นการรับเด็กในรอบแฟ้มสะสมงาน หรือพอร์ตโฟลิโอ รอบโควต้า และรอบรับตรงอิสระ ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดองค์ประกอบในการรับเด็กเข้าเรียนได้มากขึ้น…

“ผมเองไม่ได้รู้สึกกังวล ทั้งในเรื่องการรับเด็กเข้าเรียนต่อ และคุณภาพของนิสิตนักศึกษาที่จะเข้าเรียน เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศถือว่าเสมอกัน และเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็ก ดังนั้น จึงไม่กังวลและเตรียมพร้อมเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ต่อเนื่อง” นายจงรักกล่าว

หันกลับมาดูทางฟากผู้ปกครอง สิ่งที่กังวลใจนอกจากความรู้ที่ลูกจะได้รับแล้ว หนีไม่พ้นคะแนนหรือเกรดเฉลี่ย โดยเฉพาะ ป.6 ม.3 และ ม.6 ที่ต้องนำไปใช้ในการเข้าเรียนต่อ

นางกุมารี วงศ์ษาสิงห์ ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ยอมรับว่ากังวลค่อนข้างมาก เพราะลูกเรียน ป.6 และต้องเตรียมตัวสอบเข้า ม.1 ซึ่งตอนนี้มาตรการการเรียนค่อนข้างต่ำ และการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมามีปัญหาหลายด้าน เด็กได้รับความรู้จริงๆ ไม่ถึง 20% ดังนั้น ส่วนตัวจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้เด็กหยุดเรียนไปเลย 1 ปี แต่หากจะทำต้องทำทั้งระบบ รวมถึงไม่ต้องมีการสอบ และค่อยไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ในปีการศึกษาหน้า และพร้อมที่จะให้ลูกเรียน ป.6 ซ้ำอีกปีเพราะการเรียนแบบนี้ไม่ได้มีสาระ
แต่ก็ไม่ใช่ว่าโรงเรียนจะปล่อยเด็กทิ้งไว้กับผู้ปกครอง โดยต้องติดตามดูแล เช่น จัดระบบฝึกให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม เรียนรู้วิชาที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และให้เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวโดยอาจะให้กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ภายในบ้านสามารถนำมาเป็นคะแนนจิตพิสัยได้ เป็นต้น

หลายเสียงสะท้อนปัญหา และทางออกเฉพาะหน้า ซึ่งโรงเรียน ผู้ปกครอง สถาบันอุดมศึกษาต่างต้องปรับตัว ตัดสินใจด้วยตัวเอง ระหว่างรอความชัดเจนและมาตรการภาพรวมจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

เพราะหากยังปล่อยไว้และใช้คำว่ายืดหยุ่น ให้โรงเรียนคิด ตัดสินใจเองในสภาวะย่ำแย่ โดยไม่มีความชัดเจนจากหน่วยหลัก เชื่อว่าอีกไม่นาน การศึกษาไทยคงเข้าขั้นโคม่า ไม่แพ้สถานการณ์โควิด-19 แน่นอน !!

ถึงเวลาที่ครูเหน่ง ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องแสดงความกล้า ตัดสินใจแก้ปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้ เกียร์ว่าง ทิ้งโรงเรียนแก้ปัญหากันเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image