ย้อนอ่านบทความ “ศ. เกียรติคุณ ดร.ผาสุข อินทราวุธ กับรูปธรรมของสุวรรณภูมิศึกษา”

หมายเหตุ : ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. ผาสุข อินทราวุธ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะวัฒนธรรมทวารวดี มีผลงานวิชาการจำนวนมาก อาทิ ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี, ทวารวดีธรรมจักร , รายงานการขุดค้นที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม, ดรรชนีภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี รวมถึง พุทธศาสนาและประติมานวิทยา ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนในภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เป็นต้น

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. ผาสุข เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 ก.ย. หลังป่วยเป็นโรคไตมานานหลายปี โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดธาตุทองในวันที่ 18 ก.ย. เมื่อเวลา 14.00 น. ท่ามกลางบุคลากรด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ร่วมไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก

บ้านเมืองที่มีนามว่า “สุวรรณภูมิ” เป็นที่สนใจศึกษาค้นคว้ากันมานาน แต่ถ้าถามประชาชนทั่วไปก็เชื่อได้ว่าน้อยคนนักจะรู้จักบ้านเมืองนี้ ที่รู้ก็อาจจะรู้อย่างคลุมเครือ ถ้าถามนักวิชาการก็จะได้คำตอบที่แตกต่างหลากหลาย หากตอบโดยอิงกับคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและการค้นคว้าของปราชญ์รุ่นเก่า เช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็จะพบว่าสุวรรณภูมิฉายแสงในฐานะสถานที่ที่พระอุตรเถระและพระโสณเถระเดินทางเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนา ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยดินแดนไทยก็คือคือสุวรรณภูมินั่นเอง มีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐมและอู่ทอง ในขณะเดียวกันหากตอบโดยใช้บันทึกต่างชาติไม่ว่าจะตะวันตกหรือจีนก็จะได้ภาพสุวรรณภูมิในฐานะของจุดหมายของการค้าขายทางทะเลระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก

แผนที่แสดงบริเวณสุวรรณภูมิ บนภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์ มีสองเส้นทางคมนาคมต้องพักแวะขนสินค้าข้ามคาบสมุทรบริเวณที่เป็นประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์และสังคมวัฒนธรรมในไทยและสุวรรณภูมิ (บน) เส้นมีลูกศรข้างบน แสดงทิศทางเคลื่อนย้ายไปมาของกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์จากตอนใต้ของจีน สู่ลุ่มน้ำโขง ลงเจ้าพระยา (ซ้าย) เส้นประทางซ้าย แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลจากตะวันตกไปตะวันออก (ขวา) เส้นประทางขวา แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลเลียบชายฝั่งจากตะวันออกไปตะวันตก
แผนที่แสดงบริเวณสุวรรณภูมิ บนภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์ มีสองเส้นทางคมนาคมต้องพักแวะขนสินค้าข้ามคาบสมุทรบริเวณที่เป็นประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์และสังคมวัฒนธรรมในไทยและสุวรรณภูมิ (บน) เส้นมีลูกศรข้างบน แสดงทิศทางเคลื่อนย้ายไปมาของกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์จากตอนใต้ของจีน สู่ลุ่มน้ำโขง ลงเจ้าพระยา (ซ้าย) เส้นประทางซ้าย แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลจากตะวันตกไปตะวันออก (ขวา) เส้นประทางขวา แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลเลียบชายฝั่งจากตะวันออกไปตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการค้นคว้าทางโบราณคดีก้าวหน้าขึ้นมาก หลักฐานใหม่ๆ ค้นพบจำนวนมาก ทำให้คำอธิบายเรื่องราวของ “สุวรรณภูมิ” บ้านเมืองอันมีตัวตันอยู่ในอดีตกาลนานกว่า 2,000 ปีมาแล้วแห่งนี้กระจ่างขึ้น หนึ่งในนั้นที่มีคุณูปการมากที่สุด คือ “สุวรรณภูมิจากหลักฐานโบราณคดี” ของ ศ.เกียรติคุณ ดร.ผาสุข อินทราวุธ เมื่อ พ.ศ.2548 นับเป็นการค้นคว้าเรื่องราวของสุวรรณภูมิโดยผ่านการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่สมบูรณ์ที่สุด น่าจะถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่สุวรรณภูมิในบริบทศูนย์กลางการค้าขายและบริบทที่เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาเถรวาทได้รับการกล่าวถึงไปพร้อมๆกันโดยใช้หลักฐานโบราณคดีเป็นหลักฐานนำ ทั้งนี้ไม่จำกัดเฉพาะหลักฐานในไทยเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

Advertisement

จุดที่น่าสนใจของหนังสือเรื่อง “สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี” คือ กล่าวถึงภาพรวมของหลักฐานและแหล่งโบราณคดีสำคัญๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาของสุวรรณภูมิ ซึ่งตรงกับช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย กึ่งก่อนประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ยุคต้น นับได้ว่าเป็นครั้งแรกของสุวรรณภูมิศึกษาที่อ้างอิงข้อมูลกว้างขวางเช่นนี้ เข้าใจว่ามูลเหตุที่ทำให้ต้องอ้างอิงหลักฐานจากนานาประเทศเป็นเพราะความคิดว่าสุวรรณภูมิมีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ว่ากลายเป็นมติส่วนใหญ่แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ยังให้ความสำคัญกับแหล่งโบราณคดีในประเทศไทยเป็นพิเศษด้วย

ลูกปัดหินอาเกด

นอกจากนี้ยังมีการอ้างอิงถึงข้อมูลหลักฐานต่างๆจากประเทศอินเดีย ทั้งหลักฐานที่อยู่ในบริบทของพุทธศาสนา และหลักฐานที่อยู่ในบริบทของการค้าวานิช โดยเฉพาะแหล่งผลิตของโบราณวัตถุที่พบในดินแดนไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ลูกปัดหินประเภทต่างๆ ภาชนะสำริด โบราณวัตถุประเภทงาช้าง ลูกเต๋า ตะเกียงโรมันสำริด ตะเกียงโรมันดินเผา หัวแหวนทำจากหินมีค่า ภาชนะดินเผาแบบต่างๆ เหรียญโรมัน เหรียญกษาปณ์ของอินเดีย ตราประทับ เครื่องรางสำหรับพ่อค้า ข้อมูลหลักฐานจากประเทศอินเดียนี้ทำให้เห็นภาพของสุวรรณภูมิชัดเจนขึ้นมาก และช่วยสร้างภาพการติดต่อค้าขายกับจีนและอินเดียให้ชัดเจนขึ้น

Advertisement

สำหรับหลักฐานโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนานั้น อ.ผาสุข อินทราวุธ วิเคราะห์ทั้งจากหลักฐานด้านจารึก โบราณคดี และศิลปกรรม เนื้อหาจะกล่าวถึงศาสนสถานและศาสนวัตถุในดินแดนประเทศไทยสมัยทวารวดี ประเทศพม่าสมัยศรีเกษตร ประเทศพม่าในพื้นที่ของรัฐมอญ ประเทศพม่าในพื้นที่ของรัฐยะไข่ ประเทศเวียดนาม มีการยกรายละเอียดผลการขุดค้นทางโบราณคดีในเมืองสำคัญต่างๆ อาทิ เมืองไบถาโนหรือเบกถาโน เมืองฮาลินหรือฮาลิงยี เมืองศรีเกษตร เมืองสะเทิม เมืองพะโค เมืองธันยวดี เมืองเวศาลี เมืองออกแก้ว เมืองญาตรัง เมืองอู่ทอง เมืองนครปฐม เมืองลพบุรี จากข้อมูลทั้งหมดทำให้สรุปได้ว่า หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงพุทธศาสนาแผ่เข้ามายังสุวรรณภูมิ คือ หัวแหวนมีจารึกอักษรพราหมี จากเมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม อายุพุทธศตวรรษที่ 7-8 ซึ่งน่าจะเป็นวัตถุนำเข้าจากประเทศอินเดีย แต่การประดิษฐานอย่างมั่นคงเกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 ที่ประเทศพม่าและไทย ซึ่งยังนับได้ว่าไม่เก่าแก่ไปถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

ดินเผารูปพระภิกษุแสดงให้เห็นลักษณะการห่มจีวรของพระสงฆ์ที่เก่าแก่ที่สุดในสุวรรณภูมิ พบที่เมือง อู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี
ดินเผารูปพระภิกษุ พบที่เมือง อู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี

อายุของหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมในพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบตราบจนกระทั่งปัจจุบัน ทำให้ความเชื่อว่าดินแดนนี้เป็นที่ตั้งมั่นของพุทธศาสนามาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชจำเป็นต้องทบทวนอีกครั้ง

ทั้งนี้เนื้อหาของหนังสือ “สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี” ประกอบด้วยเนื้อหา 7 บท ดังนี้

บทที่ 1 กล่าวถึงความสำคัญกับข้อมูลพื้นฐานที่ว่าสุวรรณภูมิหรือดินแดนทองเป็นดินแดนที่รับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากอินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และเป็นดินแดนที่พ่อค้านิยมเดินเรือมาเพื่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า  มีการรวบรวมผลการศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับคำจำกัดความของชื่อสุวรรณภูมิ ที่นักวิชาการสรุปความสำคัญไว้หลายประการ

บทที่ 2  เป็นการวบรวมการศึกษาเรื่องสุวรรณภูมิจากหลักฐานด้านวรรณกรรมนานาชาติ ได้แก่ อินเดีย ลังกา จีน ตะวันตก อาหรับ ซึ่งรวมทั้งวรรณกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและการปกครอง

บทที่ 3 นำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กึ่งก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ระยะแรกในบริเวณสุวรรณภูมิหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับหลักฐานโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และกึ่งก่อนประวัติศาสตร์นั้นแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของอินเดียโบราณที่แผ่ขยายเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสุวรรณภูมิ และในขณะเดียวกันหลักฐานเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นร่องรอยการติดต่อค้าขายกับอินเดียด้วย

บทที่ 4  นำเสนอข้อมูลหลักฐานโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ จารึก ตำนาน และการขุดค้นแหล่งโบราณคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุวรรณภูมิ ซึ่งมีทั้งรัฐโบราณในประเทศพม่า เช่น เมืองไบถาโน เมืองฮาลิน เมืองศรีเกษตร เมืองสะเทิม เมืองพะโคหรือหงสาวดี เป็นต้น ร่องรอยหลักฐานของรัฐฟูนันและหลินยี่ในเวียดนาม และร่องรอยหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณรัฐโบราณในประเทศไทย เช่น เมืองอู่ทอง เมืองนครปฐมโบราณ และเมืองลพบุรี ซึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมที่พบทั้งในพม่าและไทยเป็นจำนวนมาก

บทที่ 5  นำเสนอกำเนิดและลำดับพัฒนาการของพุทธศาสนาในประเทศอินเดียที่แยกออกเป็นนิกายต่างๆ

บทที่ 6 กล่าวถึงร่องรอยพุทธศาสนาระยะแรกเริ่มในสุวรรณภูมิที่ปรากฏในหลักฐานด้านจารึก โบราณคดี และศิลปกรรม ซึ่งพบหลักฐานด้านจารึกที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในรัฐทวารวดีซึ่งอยู่ในภาคกลางตอนล่างเป็นจำนวนมาก มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 โดยจารึกไว้ที่ธรรมจักร ฐานพระพุทธรูป พระพิมพ์ ผนังถ้ำ เป็นต้น ข้อความส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมที่คัดจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี เช่น คาถา เยธัมมา  ส่วนในเมืองศรีเกษตร และยะไข่ในประเทศพม่าก็พบจารึกหลักธรรมในพุทธศาสนาซึ่งคัดจากพระไตรปิฎกฉบับบาลีเช่นกัน

บทที่ 7 บทวิเคราะห์และสรุป ได้กล่าวถึงความสำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิในความหมายถึงดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ จึงกลายเป็นตลาดการค้าสำคัญอันเป็นที่ต้องการเดินทางมาเยือนของพ่อค้า ประกอบกับมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม มีลมมรสุมที่เหมาะแก่การเดินเรือ จึงเป็นจุดนับพบแลกเปลี่ยนสินค้าโดยเฉพาะพ่อค้าชาวอินเดียทั้งชาวพุทธและฮินดู ซึ่งทำให้ชาวสุวรรณภูมิคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอินเดียจนกระทั่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมศาสนา

จากหลักฐานด้านวรรณกรรมสามารถสรุปได้ว่ามีการติดต่อค้าขายระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิตั้งแต่ครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 3 และช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-9 มีเครือข่ายการค้าโลกระหว่างตะวันออกและตะวันตก ตั้งแต่อาณาจักรโรมันตะวันออก อินเดีย จีน ถึงสุวรรณภูมิ และยังทำให้ทราบว่าที่กล่าวถึงการเผยแผ่พุทธศาสนาจากอินเดียมายังสุวรรณภูมินั้นเป็นหลักฐานจากวรรณกรรมโบราณของลังกา และพม่าเท่านั้น ซึ่งทำให้นักวิชาการนำไปใช้อ้างอิงและด่วนสรุปว่าสุวรรณภูมิคือประเทศมอญโดยไม่ใช้หลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานทางศิลปกรรมมาสนับสนุน

แต่หากพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดี ด้านจารึก และศิลปกรรม สามารถสรุปได้ว่า หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่แสดงว่าพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิคือ หลักฐานที่พบที่เมืองออกแก้วซึ่งพบหัวแหวนมีจารึกคาถา เย ธัมมา เป็นภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 สันนิษฐานว่านำเข้าจากอินเดีย ส่วนหลักฐานที่แสดงว่าพุทธศาสนาได้ประดิษฐานในดินแดนสุวรรณภูมิ และหลักฐานที่แสดงว่าชาวสุวรรณภูมิมีความเข้าหลักธรรมทางพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งที่เก่าแก่ที่สุดนั้นพบทั้งในประเทศพม่าและไทย แต่ไม่เก่าไปถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

ผาสุข อินทราวุธ
ศ. เกียรติคุณ ดร.ผาสุข อินทราวุธ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image