2 ปี..’ปฏิรูปการศึกษา’ ภายใต้รัฐบาล..’บิ๊กตู่’

หมายเหตุ…รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลด้านศึกษารอบ 2 ปี (12 กันยายน 2557-12 กันยายน 2559) โดยงผลงาน “การพัฒนาและการปฏิรูปการศึกษา” อยู่ในผลงานด้านสังคม ซึ่งรัฐบาลได้ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาใน 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้

โครงการนักเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี ซึ่งในปี 2559 ปรับลดจำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จาก 11.60% เหลือ 3.94% และจะทำให้เหลือ 0% ในปี 2560

โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในปี 2558 ได้นำร่องโรงเรียน 4,100 แห่งทั่วประเทศ พบว่านักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีค่าเฉลี่ยผลการทดสอบในภาพรวมสูงขึ้น ในส่วนปี 2559 จะขยายผลอีก 19,997 แห่ง และขยายผลให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปี 2560

Advertisement

การบูรณาการการสอน และการเรียนรู้ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM Education) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงบวก ซึ่งในปี 2559 ได้ดำเนินการในโรงเรียน 2,495 แห่ง และจะขยายผลให้ครบทุกโรงเรียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2564

การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ได้ปรับหลักสูตรการเรียนรู้ เดิมใช้เวลาเรียนภาษาอังกฤษเพียง 1 คาบ/สัปดาห์ ได้ขยายเวลาเรียนเป็น 5 คาบ/สัปดาห์ โดยเน้นภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และจัดทำแอพพลิเคชั่นกว่า 260 เรื่อง บรรจุลงในสมาร์ทโฟน ทำให้เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

โรงเรียนประชารัฐ ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐาน และการพัฒนาผู้นำ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชนประชาสังคม 69 หน่วยงาน โดยมีเป้าหมายพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ 7,424 แห่ง ระยะแรกดำเนินการแล้ว 3,312 แห่ง ส่วนที่เหลือจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560

2.การผลิตและพัฒนาครู

การปรับเกณฑ์อัตรากำลัง ให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก มุ่งเน้นจัดการโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนลงมา 827 แห่ง เพื่อให้เด็กได้เรียนรวมกันในโรงเรียนที่ดี และอยู่ใกล้บ้าน ภายใต้ชื่อโครงการ *“โรงเรียนดีใกล้บ้าน”* โดยปี 2559 มีแผนจะดำเนินการในโรงเรียน 421 แห่ง และปี 2560 ในอีก 406 แห่ง

การเกลี่ยอัตรากำลังครู 68,000 อัตรา จะเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่เกินไปให้โรงเรียนที่ขาดให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2559 การจัดทำแผนอัตรากำลัง 10 ปี เพื่อทดแทนอัตราครูที่เกษียณอายุราชการ

โครงการครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน โดยสรรหาครูเกษียณอายุที่เป็นครูเก่ง มาปฏิบัติการสอนในสาขาวิชาที่ขาดแคลนในโรงเรียนทั่วประเทศ ได้เริ่มดำเนินการแล้วในปี 2559 จำนวน 1,097 อัตรา และปี 2560 จำนวน 5,400 อัตรา

โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในสาขาวิชาเฉพาะ และดึงคนเก่งมาเป็นครู โดยในปี 2559 มีแผนที่จะบรรจุเป็นข้าราชการครู 4,079 อัตรา และในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2569) จะดึงนักศึกษาที่เก่งให้มาเป็นครูไม่น้อยกว่า 44,200 อัตรา

การพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp English) เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างครูวิทยากร โดยการพัฒนาความรู้ สร้างทักษะ และเทคนิคการสอน เพื่อนำไปเผยแพร่ และขยายผลให้กับครูอื่นในสังกัด ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาแล้วในช่วงแรก 6,000 คน ช่วงที่สอง 7,500 คน ทำให้ภายในปี 2561 มีครูภาษาอังกฤษที่ผ่านการอบรม 13,500 คน

ปรับระบบการอบรม และพัฒนาครู เดิมดำเนินการโดยส่วนกลาง แต่ได้ปรับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการวิเคราะห์ในเขตพื้นที่ และพิจารณาประเด็นการอบรมเฉพาะเรื่อง ให้ตรงกับเป้าหมาย โดยส่วนกลางให้การสนับสนุนงบประมาณลงไปในพื้นที่เท่านั้น

3.การพัฒนาระบบการทดสอบ ประเมิน และประกันคุณภาพการศึกษา

การปฏิรูประบบทดสอบ โดยปรับลดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) จากกลุ่มสาระการเรียนรู้จาก 8 กลุ่ม เป็น 5 กลุ่ม พร้อมปรับให้สอดคล้องกับการเรียนการสอน การสอบปลายภาค และการสอบโอเน็ตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การเฉลยข้อสอบโอเน็ต ได้เฉลยข้อสอบโอเน็ตพร้อมวิเคราะห์ผลการสอบในแต่ละสาระการเรียนรู้ และแต่ละโรงเรียน เพื่อปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน

4.การผลิตและพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ

อาชีวศึกษาทวิภาคี ปัจจุบันมีสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าร่วม 426 แห่ง ร่วมกับผู้ประกอบการ 13,686 แห่ง ตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 ทุกสถานศึกษาของ สอศ.จะร่วมจัดหลักสูตรอาชีวศึกษาทวิภาคีอย่างน้อย 1 สาขา

สหกิจศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ร่วมกับภาคเอกชน 14,428 บริษัท ส่งนักศึกษา 37,472 คน จากสถาบันอุดมศึกษา 127 แห่ง เข้าไปฝึกงานเพื่อได้รับประสบการณ์จริง โดยจะร่วมมือกับโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เน้นการจัดทำฐานข้อมูลการผลิต และความต้องการกำลังคน การจัดตั้ง Excellent Model School สถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศด้านอาชีพ

Re-Profile สถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ให้มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง เพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0

ปรับระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น โดยปรับให้ผู้เรียนทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ เรียนข้ามสายได้ เช่น จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ จบชั้น ม.6 เข้าเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงได้ เป็นต้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้เด็กมาเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น

ระบบทวิวุฒิ เป็นหลักสูตรเรียนร่วมระหว่างไทยกับต่างประเทศ เมื่อเรียนจบแล้วจะได้ทั้งวุฒิการศึกษาของไทย-ต่างประเทศ เพื่อผลิตคนให้ตรงกับความต้องการ

การปรับระบบการสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษา เพื่อลดภาระของผู้ปกครอง และเด็ก รวมถึง มหาวิทยาลัยจะได้นักศึกษาตรงความต้องการ

5.ไอซีทีเพื่อการศึกษา

ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ศธ.ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้ทุกโรงเรียน โดยกำหนดเป้าหมายการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในโรงเรียน 8,396 แห่ง ที่อินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง รวมทั้ง โรงเรียนประชารัฐเฟสแรก 3,312 แห่ง มีโรงเรียนที่ยังขาดสัญญาณอินเตอร์เน็ตอีก 349 แห่ง ดังนั้น คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ร่วมกับภาคเอกชน วางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้เสร็จต่อไป

จัดทำฐานข้อมูลกลาง ของนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษา เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษา

6.การบริหารจัดการ

การบริหารราชการของ ศธ.ในภูมิภาค เพื่อดำเนินงานด้านการศึกษาในระดับพื้นที่ การย้ายครู ผู้บริหาร ข้าราชการ การให้ทุกส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมมีส่วนร่วมจัดการศึกษา การจัดกระบวนการศึกษาของจังหวัด และเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การจัดการศึกษาให้กับเด็กตกหล่น ประเทศไทยได้รับเกียรติจากยูเนสโกให้เป็นเจ้าภาพ เพื่อการจัดทำบันทึกปฏิญญาอาเซียนเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กตกหล่น ได้เตรียมการเพื่อติดตามเด็กตกหล่นให้กลับเข้ามารับการศึกษา ซึ่ง ศธ.ได้ส่งมอบโมเดลให้ กศจ.นำไปปรับใช้แล้ว

การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษา แก้ไขปัญหาความยากจน โดยมี คสช.เพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และจัดสรรงบประมาณปี 2560 จำนวน 39,900 ล้านบาท สำหรับเด็กไทย 7 ล้านคน

การแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษเพื่อแก้ปัญหา

การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2574) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเข้าถึงการศึกษา ความเท่าเทียม คุณภาพ ประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image