จี้ ‘ตรีนุช’ สั่งหยุดเรียน ‘ออนไลน์’ เลิก ‘5On’ เปิดช่อง ร.ร.บูรณาการวิธีสอนเอง

จี้ ‘ตรีนุช’ สั่งหยุดเรียน ‘ออนไลน์’ เลิก ‘5On’ เปิดช่อง ร.ร.บูรณาการวิธีสอนเอง เผย 29 จ.แดงเข้มไร้ ‘คอมพ์-สมาร์ทโฟน’ 99%

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า กรณีกลุ่มนักเรียนชื่อ “นักเรียนเลว” พร้อมเครือข่ายองค์กรนักเรียน 10 แห่ง ชวนนักเรียนทั่วประเทศหยุดเรียนออนไลน์ ในวันที่ 6-10 กันยายน เพื่อคัดค้านการเรียนออนไลน์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมเรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1.ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับรูปแบบการศึกษาในสอดคล้องกับปัจจุบัน 2.หากไม่สามารถเปิดเรียนได้ ต้องทำให้นักเรียนที่ขาดแคลนเข้าถึงการเรียนออนไลน์ 3.จัดสรรวัคซีนให้เด็กโดยเร็ว 4.ช่วยเด็กที่ได้รับความเครียดจากการเรียนออนไลน์ และ 5.เร่งทำให้การศึกษามีคุณภาพ ไม่มีค่าใช้จ่าย นั้น การแสดงออกของกลุ่มนักเรียนเลว เป็นการแสดงอารยะขัดขืนที่ทันสมัย ที่ตอบโต้ระบบการศึกษา และนโยบายการศึกษาที่ไม่คิดถึงอนาคตเด็ก มัวแต่กลัว และปฏิเสธความรับผิด เด็กถูกกระทำ และบังคับให้เรียนออนไลน์ อย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ผลที่ตามคือเด็กเครียด เพราะเรียนมาก อยู่หน้าจอทั้งวัน ครูให้การบ้านจำนวนมาก

“การเรียนลักษณะนี้ คือการเรียนแบบ Passive learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ผู้สอนบรรยาย ผู้เรียนนั่งฟัง เด็กไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับใคร จะทำให้อ้วน ติดเกมมากขึ้น และหากภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ยังไม่สามารถเปิดเรียน Onsite ได้ จะทำให้คุณภาพการเรียนรู้ของเด็กถดถอยไปถึง 1 ปี” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ศธ.ควรคำนึงถึงสิทธิ และความต้องการของเด็กมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่เด็กเสนอข้อเรียกร้องมา มีเหตุผล มองว่ารูปแบบการเรียน 5 On ที่ ศธ.กำหนดมานั้น ควรยกเลิก เพราะเป็นนโยบาลรวมศูนย์ที่ทำให้ครูคิดติดกรอบ ขณะนี้มีนวัตกรรมการสอนจำนวนมาก เช่น หากยังมีการสอนออนไลน์ในโรงเรียนขนาดใหญ่ และขนาดกลาง อาจจะบูรณาการสอนโดยให้เด็กมาโรงเรียนเพื่อเรียนวิชาการครึ่งวัน จากนั้นไปเรียนปฏิบัติ โดยให้เด็กไปเรียนกับพ่อแม่ และเรียนกับชุมนุม เป็นต้น ส่วนครูต้องเลิกความคิดการเป็นเจ้าของวิชา และให้การบ้านจำนวนมาก ควรจะบูรณาการออกแบบการบ้านร่วมกัน ให้การบ้าน 1 ชิ้นมีหลายวิชาอยู่ในนั้น

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า จากการสำรวจเด็กในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม จำนวน 29 จังหวัด พบเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 271,888 คน ในจำนวนนี้ไม่มีโทรทัศน์ 87% ไม่มีคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน 99% ไม่มีไฟฟ้าใช้ 10% สิ่งเหล่านี้คือความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ที่สะท้อนให้เห็นจากการเรียนออนไลน์ ที่เด็กต้องวิ่งหาอินเตอร์เน็ต และเข้าไม่ถึงการเรียนการสอน มองว่าการจัดรูปแบบการเรียนการสอนต่างๆ ของ ศธ.ต้องคำนึงถึงเด็กกลุ่มเปราะบาง กลุ่มยากจนพิเศษเป็นอันดับแรกๆ พร้อมกับหาวิธีการช่วยเหลือว่าจะจัดสรรอุปกรณ์ให้กับเด็กอย่างไร

Advertisement

“นโยบายที่ ศธ.ออกมา เป็นนโยบายที่ทำให้เด็กได้เรียนตามมีตามเกิด ทำให้เด็กเข้าไม่ถึง เรียนไม่เข้าใจ และสุดท้ายก็ไม่เรียน หรือหลุดจากระบบการศึกษาไป อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า เด็กติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จำนวน 140,000 คน เสียชีวิต 13 ราย ซึ่งเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวทุกคน” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า เชื่อว่าในภาคเรียนที่ 2 จะเปิดเรียนแบบ Onsite เพราะเด็กมีภูมิต้านทาน โอกาสเสียชีวิตจึงต่ำมาก และในหลายประเทศที่สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงเหมือนไทย จนต้องล็อกดาวน์ปิดประเทศนั้น แต่ประเทศเหล่านี้ให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอน โดยมีมาตรการเข้มงวด เร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว ในขณะที่ไทยกลับปิดสถานศึกษา ดังนั้น ศธ.ควรจะเร่งฉีดวัคซีนให้เด็ก ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเด็กให้ครบ 100% เพื่อให้โรงเรียนกลับมาเปิดเรียนได้ โดยให้ชุมชน และโรงเรียนร่วมกันจัดมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อร่วมกัน

“ต้องถาม ศธ.ว่าการเรียนออนไลน์ ที่ทำให้เด็กเครียด 7-8 ชั่วโมงต่อวัน คือการเรียนรู้จริงหรือ เชื่อว่าหากนักเรียนสามารถเข้ามาเรียนในโรงเรียนได้ในเทอม 2 จะช่วยให้เด็กหายเครียดได้เร็วขึ้น เพราะเด็กได้สนุกสนานกับเพื่อน มีสังคม” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขอเสนอให้ครูหยุดสอนในวันที่ 6-10 กันยายนด้วย เพื่อลดความเครียดให้เด็กอีกทางด้วย และขอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล้าเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องของเด็ก อย่ากลัว และอย่าสั่งปิดโรงเรียน เนื่องจากกลัวว่าเด็กจะติดเชื้อเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าไม่เปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยตอนนี้ จะเป็นการฆ่าเด็กทีละก้าวๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image