กมว.ยันขอ ‘ตั๋วครู’ ต้องสอบวิชาเอก ห่วงเลิกทำ ‘มาตรฐาน-ความเชื่อมั่น’ ตกต่ำ

กมว.ยันขอ ‘ตั๋วครู’ ต้องสอบวิชาเอก ห่วงเลิกทำ ‘มาตรฐาน-ความเชื่อมั่น’ ตกต่ำ มั่นใจกลุ่มวุฒิ ป.บัณฑิต ยื่นฟ้องศาลไม่ได้

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา เปิดเผยกรณีคณะกรรมการคุรุสภา มอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปหาข้อสรุปการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้ และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ควรจะสอบวิชาเอกหรือไม่ โดยจะต้องจัดทำเป็นแนวทาง ข้อดี ข้อเสีย ของการสอบ และไม่สอบวิชาเอก เสนอให้คณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ชี้แจงกับปลัด ศธ.ในประเด็นดังกล่าว โดยยืนยันว่าการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ควรจะสอบวิชาเอก ให้เหมือนกับวิชาชีพอื่น เช่น วิศวกรรม พยาบาล ทนาย เป็นต้น

“จะเห็นว่าไม่มีวิชาชีพไหน ที่ไม่สอบวิชาเอกเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเลย ซึ่งการสอบวิชาเอก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการ ว่าผู้ที่จะมาเป็นครู มีความรู้ขั้นต่ำที่จะมาสอนนักเรียน เพราะถ้าไม่สอบวิชาเอกเลย จะไม่มีทางรู้ว่าผู้ที่มาเป็นครูมีความรู้เพียงพอที่จะไปสอนนักเรียนหรือไม่” ดร.เอกชัย กล่าว

ดร.เอกชัย กล่าวต่อว่า ถ้าให้เหตุผลว่าไม่ควรสอบวิชาเอก เพราะหน่วยงานอื่นมีการสอบวัดความรู้วิชาเอกอยู่แล้ว เช่น การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการสอบภาค ค.วัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา โดยประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการสอบสาธิตการปฏิบัติการสอน มองว่าการสอบเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ กับการสอบมาตรฐานวิชาชีพ เป็นคนละส่วนกัน ถ้าไม่สอบวิชาเอกเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะทำให้มาตรฐาน และความหน้าเชื่อถือในวิชาชีพครูอาจตกต่ำลง

“การออกข้อสอบ ควรออกข้อสอบเพื่อวัดความรู้ขั้นต่ำ และต้องออกข้อสอบตามสาขาวิชาที่ สพฐ.ประกาศรับบรรจุ ไม่ใช่ออกข้อสอบตามสาขาวิชาที่สถาบันผลิตครูเปิดสอน เพราะสถาบันผลิตครูเปิดสอนสาชาวิชาที่หลากหลาย ดังนั้น ต้องเปลี่ยนวิธีการจัดสอบ เพื่อประหยัดงบประมาณ และเพื่อให้สถาบันผลิตครูกลับมาผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศด้วย” ดร.เอกชัย กล่าว

Advertisement

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า กรณีที่ต้องการยกเลิกสอบวิชาเอก เพราะผู้จบการศึกษาจากหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต เลือกสอบวิชาเอกที่ไม่ตรงกับสาขาที่จบมา ทำให้อัตราการสอบผ่านน้อย โดยที่ผู้เรียนหลักสูตรครูจริงๆ ทั้ง 4 ปี และ 5 ปี ที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ยังไม่ได้รับการทดสอบ เพราะจะมีสิทธิสอบครั้งแรกในปี 2565 ก็มายกเลิกการสอบวิชาเอก ทั้งๆ ที่กลุ่มเป้าหมายนิสิต นักศึกษาครู ในสถาบันผลิตครูจริงๆ ยังไม่ได้เข้ารับการทดสอบเลย

“ส่วนที่กังวลว่าหากจะกลับมาสอบวิชาเอกอีก กลุ่ม ป.บัณฑิต จะไปฟ้องศาล เพราะได้รับผลกระทบ และทำให้เสียสิทธิ มองว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถฟ้องได้ เพราะตามที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการคุรุสภาเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู พ.ศ.2563 ประกาศนี้กำหนดชัดเจนให้สอบวิชาเอก และขณะนี้ยังไม่มีการประกาศคณะกรรมการคุรุสภา ยกเลิกการสอบวิชาเอก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะฟ้องว่างเสียสิทธิ” ดร.เอกชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image