ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ รูปธรรมของการสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ยึดมั่นในปรัชญา “การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่น” และมีภาระหน้าที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 คือ “ศึกษา วิจัย ส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” อันเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า “ศาสตร์พระราชา” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ที่ได้พระราชทานองค์ความรู้และศาสตร์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศชาติไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็น ที่ยอมรับกันว่าศาสตร์พระราชาเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำพาให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ยั่งยืน (sustainable society) สมควรยิ่งที่จะนำความรู้ ความเข้าใจ น้อมนำสู่การปฏิบัติ 

ด้วยเหตุนี้การน้อมนำศาสตร์พระราชาเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนด้วยการพัฒนาเป็นหลักสูตรการศึกษาน่าจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนในทุกสาขาวิชาชีพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จึงตระหนักถึงความสำคัญและกำหนดนโยบายร่วมธำรงและรักษาไว้ซึ่งศาสตร์พระราชานี้ให้อยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทย รวมทั้งสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย คือ “สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” และเป็นไปตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579)

Advertisement

ดังนั้นเพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานและน้อมนำศาสตร์พระราชาเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรมอันจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ จึงได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรเพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา ใน 2 ลักษณะ คือ (1) จัดให้มีการสอนรายวิชาศาสตร์พระราชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และ (2) เปิดสอนหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาวิชาศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน โดยเปิดสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562

และเพื่อขับเคลื่อนการสืบสานศาสตร์พระราชาอย่างเป็นรูปธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้จัดตั้งหน่วยงานเชิงรุก 2 หน่วยงาน คือ

Advertisement
  1. ศูนย์ศึกษาศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานเชิงวิชาการ
  2. ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานเชิงปฏิบัติ
    ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ

    ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มีภาระหน้าที่ คือ

  1. พัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่  ในทุกมิติ
  2. ให้บริการวิชาการแก่สังคมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในบริบทและมิติที่เหมาะสมกับภูมิสังคม อาทิ การทำให้ผู้ที่ยังไม่รู้และยังไม่เข้าใจมีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องแท้จริงแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ  การทำให้ผู้ที่รู้และเข้าใจแล้วสามารถนำไปปฏิบัติได้ การทำให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติแล้วเกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนสามารถถ่ายทอดต่อไปได้ เป็นต้น
  3. ร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ กับหน่วยงาน
    ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  4. รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและเผยแพร่ตัวอย่างที่เป็นต้นแบบเพื่อนำไปประยุกต์ใช้และเรียนรู้เพื่อขยายผลต่อไป

ในปี พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยฯ ได้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ ณ ศูนย์แม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 7,000 ไร่ และอยู่ในระหว่างพัฒนาเป็น main campus แห่งใหม่ ด้วยการเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่บนเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับศึกษาและทดลองดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ “ศาสตร์พระราชา” สำหรับนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร และประชาชน โดยดำเนินงานภายใต้ชื่อ “โครงการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” และต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 97 ปี วันสถาปนามหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดตั้งขึ้นเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่” มีนายคนึง กาบกันทะ ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ เป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ฯ และอาจารย์ ดร.ถนัด บุญชัย รองอธิการบดี เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ฯ

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เริ่มต้นดำเนินการบนเนื้อที่ 16 ไร่ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยฯ ณ ศูนย์แม่ริม ซึ่งเป็นป่าเต็งรังหรือที่รู้จักในชื่อ ป่าแพะ ลักษณะทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ต้นไม้ที่พบ ได้แก่ ไม้เต็ง ไม้เหียง ไม้ตะแบก ไม้ประดู่ พบอยู่ทั่วไปในที่ราบ และตามเนินเขา สิ่งแรกที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” หรือแนวทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้และจัดการพื้นที่ คือ “การพัฒนาป่าด้วยทฤษฎีป่าเปียก” ซึ่งเป็นทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้ด้วยการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น เป็นหลักสำคัญที่จะช่วยให้ป่ามีความสมบูรณ์ โดยมีการทำบ่อกักเก็บน้ำบนที่สูง แล้วทำลำธารที่เรียกว่า “คลองไส้ไก่” ให้น้ำที่เรากักเก็บไว้ไหลผ่านคลองฯ ผ่านป่า ลงมาสู่บ่อเก็บน้ำด้านล่าง หลังจากที่ป่าไม้ในพื้นที่สมบูรณ์แล้วทางศูนย์การเรียนรู้ฯ ก็นำแนวทฤษฎี “การทำสวนเกษตรพอเพียง” เข้ามาปรับใช้และเรียนรู้ โดยเน้นการเพาะปลูกพืชผักหมุนเวียน เช่น ผักกาด ผักสลัด ผักบุ้ง ผักชี มะเขือ เป็นต้น พืชสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ บอระเพชร ฟักข้าว เป็นต้น การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลาทับทิม ปลาดุก กบ จิ้งหรีด เป็นต้น ที่สำคัญยังได้นำพืชเศรษฐกิจเข้ามาทดลองปลูก เช่น โกโก้ กาแฟ กล้วย และเน้นการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นไปตามแนวทางโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 การดำเนินงานโครงการนี้มีบุคลากรของกองอาคารสถานที่ สำนักงานอธิการบดี เป็นกลุ่มบุคคลหลักที่ช่วยกันสลับหมุนเวียนมาดำเนินการด้วยเจตนาที่จะให้บุคลากรเหล่านี้ได้รับการซึมซับองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับศาสตร์พระราชา เพื่อจะได้ขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image