ซัดกลุ่มเสียประโยชน์จ้องคว่ำ กม. ปธ.กมว.เชื่อ ‘รัฐบาล’ แก้เกม ‘สภา’ เทโหวต มั่นใจร่าง พ.ร.บ.ศึกษาผ่าน

ซัดกลุ่มเสียประโยชน์จ้องคว่ำ กม. ปธ.กมว.เชื่อ ‘รัฐบาล’ แก้เกม ‘สภา’ เทโหวต มั่นใจร่าง พ.ร.บ.ศึกษาผ่าน ยันปฏิรูปฯ ได้

เมื่อวันที่ 20 กันยายน ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยกรณีที่ประชุมรัฐสภาล่ม ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ถูกเลื่อนการลงมติออกไปในการประชุมสมัยหน้า ว่า น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะเดิมก็ช้าอยู่แล้ว กลับต้องมาล่าช้าเพิ่มอีก 2 เดือน เพราะต้องรอการลงมติในการประชุมสมัยหน้า แม้จะเสียดายโอกาส แต่อาจเป็นเรื่องดี เพราะทราบว่ามีคนบางกลุ่ม ที่กังวลว่าจะเสียผลประโยชน์ เสียตำแหน่ง เสียอำนาจที่เคยมี จึงพยายามคว่ำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดังนั้น ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา สาเหตุที่สภายังไม่ลงมติเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ อาจเป็นการแก้เกมเบื้องต้นของรัฐบาล เพราะรัฐบาลต้องมั่นใจว่าเมื่อโหวตร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะต้องผ่าน หากลงมติไปแล้ว ผลออกมาว่าสภามีมติไม่รับหลักการ อาจเกิดปัญหาตามมาได้

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในการประชุมสมัยหน้า ที่ประชุมจะมีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ แน่นอน เพราะจะเห็นว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามในระเบียบ ศธ.เรื่องการเตรียมการจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ พ.ศ.2564 ไว้แล้ว ทำให้เห็นว่ารัฐบาลมั่นใจว่าในการประชุมสมัยหน้า ที่ประชุมจะมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แน่นอน เนื่องจากการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรฯ กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีข้อดี และมีข้อแตกต่างจากฉบับปี พ.ศ. 2542 มาก เช่น กำหนดสมรรถนะให้เด็กได้บรรจุเป้าหมายตามช่วงวัย โดยเน้นคุณภาพการศึกษาสำคัญ อีกทั้ง กำหนดชัดเจนว่าจะใช้ครูทำหน้าที่อื่นที่เป็นอุปสรรคต่อการสอนไม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก ที่ครูต้องทำหน้าที่อื่น ทำให้ไม่มีเวลาจัดการเรียนการสอนให้เด็กกได้ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดไว้ว่าครูทุกคนต้องมีส่วนกำหนดสัดส่วนการใช้เงินในสถานศึกษาด้วย จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้ดูแล และรับผิดชอบเพียงคนเดียว” ดร.เอกชัย กล่าว

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กำหนดให้มีสถาบันหลักสูตรฯ ทำหน้าที่จัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความรู้ สติปัญญา มีทักษะชีวิตที่สอดคล้อง และเท่าทันพัฒนาการของโลก และกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ทำหน้าที่พิจารณา และเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการศึกษา ติดตามดูแลการจัดการศึกษาให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่สำคัญไม่การกำหนดโครงสร้างการบริหารของ ศธ.ซึ่งทำให้ ศธ.ปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า นักวิชาการมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้ เพราะไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน และนักเรียนไม่ได้ประโยชน์ ดร.เอกชัย กล่าวว่า ไม่จริง เชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับนี้ จะปฏิรูปการศึกษาได้แน่นอน เพราะตัวกฎหมายกำหนดให้มีสถาบันหลักสูตรฯ ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดหลักสูตร และออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ดังนั้น แม้ประเทศจะเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 สถาบันหลักสูตรฯ ก็สามารถกำหนดหลักสูตร และแนวทางการจัดการเรียนการสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image