‘ตรีนุช’ เตรียมแผนเปิดเรียน On Site ‘ส.บ.ม.ท.’ คาดเด็กกว่า 98% พร้อมฉีดวัคซีน

แฟ้มภาพ

‘ตรีนุช’ เตรียมแผนเปิดเรียน On Site  ‘ส.บ.ม.ท.’ คาดเด็กกว่า 98% พร้อมฉีดวัคซีน ศธ.เร่งวางมาตรการเปิดเทอม2 ย้ำ ป้องกันเข้มข้น

เมื่อวันที่ 22 กันยายน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมมาตรการจัดการเรียนการสอน ในช่วงการเปิดภาคเรียนที่2 ปีการศึกษา 2564 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามแผนการทำงานในเรื่องต่างๆ ทั้งการเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 การเตรียมแผนการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน นักศึกษา และการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการยินยอมให้นักเรียนได้รับการฉีดวัคซีน โดยขณะนี้ อยากโฟกัสเรื่องการฉีดวัคซีนก่อน เพราะหากการฉีดวีคซีนเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ศธ.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางไว้ ก็สามารถเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ได้แน่นอน แต่จะเปิดเรียนได้แบบใดบ้าง ต้องรอดูสถานการณ์จริง ณ ขณะนั้นด้วย ศธ.มีความพยายามจะให้เปิดเรียนแบบ On Site หรือเรียนที่โรงเรียนในให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ นายสุภัทร จำปาทอง กล่าวตอนหนึ่งในรายการ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) พบสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างวางมาตรการเพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ โดยจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากกว่าโรงเรียนประจำ ที่เข้าโครงการ Sandbox Safety Zone in School หรือ SSS เช่น ใส่หน้ากาอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆอยู่เสมอ จัดอาหารปรุงสุกเป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ต้องได้รับการตรวจสอบ สถานศึกษาจะต้องดำเนินการตามมาตรการที่ สธ. กำหนดอย่างเข้มงวด เช่น THAI STOP COVID+, Thai Save Thai, ดูแลอาหารให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัย วางแผนเผชิญเหตุร่วมกับโรงพยาบาลหากพบเด็กติดเชื้อ หากโรงเรียนใดต้องการเปิดเรียนในโรงเรียน ต้องจัดทำแผนโดยยึดมาตรการที่ สธ.และศธ.กำหนดอย่างเคร่งครัด และเสนอผ่านศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) หาก ศธจ.ตรวจดูแผนแล้วพบว่าโรงเรียนสามารถดำเนินการตามมาตรการที่ สธ.และศธ.กำหนดได้ จะเสนอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาอนุมัติต่อไป

“แม้มาตรการ SSS จะช่วยจัดการปัญหาให้กับพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด แต่ผมขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่ง ปฏิบัติตามมาตรการนี้เช่นเดียวกัน เพราะจะเห็นโรงเรียนพักนอนหลายแห่งที่ไม่ได้เข้าโครงการ SSS และไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการที่ ศธ.และสธ.วางไว้อย่างเคร่งครัด ทำให้เด็กติดเชื้อในสถานศึกษาได้ จึงขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการตามที่ สธ.และศธ.วางไว้อย่างเข้มงวด”นายสุภัทร กล่าว

ปลัด ศธ. กล่าวต่ออีกว่า ส่วนการฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษา อายุ 12-17 ปี 11 เดือน 29 วัน นั้น ขอให้สถานศึกษาประชุมทำความเข้าใจผู้ปกครองภายในวันที่ 21-24 กันยายน พร้อมกับให้ผู้ปกครองกรอกเอกสารแสดงความประสงค์ฉีดวัคซีน และในวันที่ 25 กันยายนขอให้ส่งข้อมูล จำนวนนักเรียนไปยัง ศธจ. และวันที่ 26 กันยายน จังหวัดจะรวบรวมตัวเลขนักเรียนที่ต้องการฉีดส่งให้สาธารณสุขจังหวัด (สธจ.) และในวันที่ 27 กันยายน สธจ.จะส่งข้อมูลให้กรมควบคุมโรค จัดสรรวัคซีนให้แต่ละพื้นที่ต่อไป ซึ่งในวันที่ 1 ตุลาคม สถานศึกษาจะทราบวันที่แน่นอนว่า สถานศึกษาจะได้รับการจัดสรรวัคซีนในวันไหน และทำการนัดผู้ปกครองต่อไป

Advertisement

นายวิสิทธิ ใจเถิง นายก ส.บ.ม.ท. กล่าวว่า การได้รับวัคซีนถือเป็นความหวังของสถานศึกษาที่จะเปิดเรียนแบบปกติ ในภาคเรียนที่ 2/2564 ในส่วนของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เท่าที่ได้สำรวจความต้องการก็พบว่านักเรียนสนใจฉีดวัคซีนมากถึง 98%

“เท่าที่ทราบนักเรียนในระดับชั้นมัธยมมีความรู้ ค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งจากการสอบถามผู้ปกครองส่วนใหญ่บอกว่านักเรียนเป็นคนหาข้อมูลและเป็นผู้ตัดสินใจเองทั้งหมด เพราะเด็กต้องการมาโรงเรียนตามปกติ สรุปแล้วผมเชื่อว่าถ้าเราประชาสัมพันธ์ให้ดี สื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจ ก็เชื่อว่าผู้ปกครองจะยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีน 100% ” นายวิสิทธิ กล่าว

ด้านนพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ยังทรงๆ อยู่ แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน มีเด็กอายุ 0-19 ปี ติดเชื้อ 188,852 ราย จากข้อมูลนี้ พบว่าเด็กอายุ 13-19 ปี ติดเชื้อกว่า 80,000 ราย เมื่อเทียบการติดเชื้อกับผู้ใหญ่พบว่าเด็กติดเชื้อประมาณ 10-15% จะเห็นว่าอัตราการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุเพราะเด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ปกครอง คนในครอบครัว และคนใกล้ชิด ส่วนอัตราการเสียชีวิต จากข้อมูลวันที่ 5 มิถุนายน – 16 กันยายน พบนักเรียนเสียชีวิต5 ราย ครูเสียชีวิด 9 ราย และบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ เสียชีวิต 4 ราย สาเหตุที่เด็กเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนที่มีโรคประจำตัว โดยอัตราที่เด็กเสียชีวิตอยู่ที่ 0.03%

Advertisement

“เมื่อเปิดภาคเรียนแล้ว หากเป็นการเรียนในโรงเรียน ขอให้ผู้บริหารสถานปฏิบัติตามมาตรการที่ สธ.วางไว้อย่างเคร่งครัด ควบคุมดูแลการเดินทางเข้าออกสถานศึกษาให้ดี แม้อัตราการติดเชื้อจากในโรงเรียนจะน้อย แต่เมื่อเด็กออกนอกโรงเรียนแล้วอาจจะติดเชื้อได้ ดังนั้นพื้นที่นอกโรงเรียน การเดินทางของเด็ก โดยเฉพาะรถรับส่งนักเรียน ต้องทำให้เกิด COVID FREE ZONE ในสถานที่เหล่านี้ด้วย นอกจากนี้อยากให้ครู นักเรียน ตรวจสอบความเสี่ยงผ่าน Thai Save Thai  ทุกวัน ก่อนเข้าโรงเรียนด้วย ” นพ.สราวุฒิ กล่าว

นพ.สราวุฒิ กล่าวต่อว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนเชื้อตายให้กับเด็กนั้น ขณะนี้มีหลายประเทศที่อนุมัติให้ใช้ฉีดให้เด็ก เช่น ประเทศจีน ประเทศชิลี และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังพบข้อมูลการทดลองในระยะที่ 3 น้อยอยู่ แต่ประเทศไทยทางราชวิทยาลัยจุฬาลงภรณ์ ได้ฉีดซิโนฟราม์ให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ขณะนี้ก้อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาอนุมัติ หากมีความคืบหน้า และพบว่ามีความปลอดภัย คาดว่าจะอนุมัติให้ฉีดในเด็กต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image