สภาเห็นชอบแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19 โหมด ‘แต่งตั้ง-โยกย้าย’ บุคลากรใน สพท.

สภาเห็นชอบแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19 โหมด ‘แต่งตั้ง-โยกย้าย’ บุคลากรใน สพท. ‘อัมพร’ หนุนฉบับ ส.ส.คืนอำนาจให้เขตฯ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบหลักการให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 ฉบับ และมีฉบับที่ ส.ส.เสนออีก 6 ฉบับ รวม 7 ฉบับ ทั้งนี้ การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น ฉบับที่ ส.ส.เสนอ ให้คืนอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายการบริหารงานบุคคลให้เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ส่วนฉบับที่ ครม.เสนอ จะให้อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายการบริหารงานบุคคลเป็นหน้าที่ของอนุกรรมการการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) จังหวัด มีตัวแทนของแต่ละหน่วยงานมาร่วมกันพิจารณาดำเนินการ

“จะเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ของสภา เห็นชอบให้คืนอำนาจการแต่งตั้งการโยกย้ายบริหารงานบุคคลให้เขตพื้นที่ฯ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องผ่านการพิจารณาหลายขั้นตอนกว่าจะได้ข้อสรุป เนื่องจากต้องรอ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ประกาศใช้ด้วย เพราะการแก้ไขอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย จะต้องปรับระเบียบ และโครงสร้างให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ด้วย ซึ่งขณะนี้ที่ประชุมรัฐสภา ยังไม่มีมติเห็นชอบรับหลักการ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องรอพิจารณาในการประชุมสมัยหน้าวันที่ 1 พฤศจิกายน” นายอัมพร กล่าว

นายอัมพรกล่าวต่อว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถ้ากฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ สพฐ.พร้อมจะทำความเข้าใจกับเขตพื้นที่ฯ และปฏิบัติตามกฎหมายทันที ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นการลดแรงเสียดทานของผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ หรือไม่ เพราะตลอดหลายปี ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ต่างเรียกร้องให้อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายกลับมาเหมือนเดิม มองว่าที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาไม่มีบทบาทในการบริหารงานบุคคล เพราะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งต้องผ่านหลายขั้นตอน แต่เมื่ออำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายกลับมาที่เขตพื้นที่ฯ จะเป็นไปตามระบบราชการทั่วไป คือหน่วยไหนเป็นผู้ใช้คน หน่วยนั้นต้องมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย

“ผมค่อนข้างเห็นด้วยที่ให้อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายการบริหารงานบุคคลมาอยู่เขตพื้นที่ฯ เพราะทำให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะคนใช้ คนกำกับ และคนบริหารจัดการ อยู่ในกลุ่มเดียวกัน การดำเนินการต่างๆ จะมีความรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากทุกอย่างเบ็ดเสร็จอยู่ในตัว ซึ่งจะแตกต่างจากเดิม ที่การแต่งตั้งโยกย้ายการบริหารงานบุคคล ต้องผ่าน กศจ.ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายแต่ละครั้ง ต้องใช้ระยะเวลานาน” นายอัมพร กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคนกังวลว่าเมื่ออำนาจมาอยู่ที่เขตพื้นที่ฯ อาจมีทุจริตเรียกรับผลประโยชน์เหมือนในอดีต ที่มีการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก นายอัมพร กล่าวว่า มองว่า การทุจริตไม่ได้อยู่ที่ตัวระบบ แต่อยู่ที่พฤติกรรมของคน ไม่ว่าอยู่ในระบบไหน การทุจริตก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น หากคนไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีธรรมาภิบาล ดังนั้น จะแก้ระบบไม่ให้เกิดทุจริต คงจะไม่มีวันจบ เพราะปัญหาอยู่ที่คน ต้องมีวิธีจัดการคนที่ดำเนินการทุจริตอย่างเด็ดขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image