‘ตรีนุช’ ลุยสิงห์บุรี ช่วยน้ำท่วม ร.ร.60 เขตพื้นที่ฯกระทบหนัก มอบ ศธจ.ประเมินฉีดไฟเซอร์ น.ร.

‘ตรีนุช’ ลุยสิงห์บุรี ช่วยน้ำท่วม ร.ร.60 เขตพื้นที่ฯกระทบหนัก มอบ ศธจ.ประเมินฉีดไฟเซอร์ น.ร.

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ อบต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย พร้อมมอบกล่องยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย ใน อบต.ประศุก อบต.ทับยา และอบต.น้ำตาล จากนั้นได้เปิดโครงการ “กระทรวงศึกษาธิการ รวมใจช่วยภัย น้ำท่วม” พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมสร้าง Fix it Center ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จ.สิงห์บุรี

โดยน.ส.ตรีนุชกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความห่วงใยประชาชนอย่างมาก นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แล้วยังต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำอีก ตนจะประสานงานกับอธิบดีกรมชลประทานอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ศธ. มีความห่วงใย ด้านความเป็นอยู่ของชุมชน นักเรียน นักศึกษาเป็นอย่างมาก จึงดำเนินโครงการ Fix it Center  เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย และยังส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา นำความรู้ความชำนาญด้านงานช่างมาให้บริการ ซึ่งเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียน นักศึกษาจากประสบการณ์จริง ได้ซ่อมของจริงที่ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วมจริง ได้เรียนรู้จักการเป็นจิตอาสา โดยให้นับเป็นเวลาเรียนด้วย

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า สถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดสิงห์บุรีทั้งภาครัฐและเอกชน รวม 7 แห่ง ได้ดำเนินภารกิจร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับชุมชนในช่วงภาวะวิกฤตได้เป็นอย่างดี โดยมีนักศึกษาจิตอาสา มาให้บริการซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน งานเชื่อม มุ้งลวด  และซ่อมคอมพิวเตอร์ โดยเปิดให้บริการเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. หรือจนกว่าจะน้ำจะลดทั้งหมด ที่หน้า อบต.ประศุก ซึ่งประชาชนสามารถรับบริการได้ ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งการบริการทั้งหมดเป็นการให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ มีอายุการใช้งานที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่างๆ สถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของนักเรียน นักศึกษา ครู เป็นสำคัญ และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องในขณะนี้ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยทั้งผู้ให้บริการและผู้เข้ารับบริการ

“ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาในสังกัด สอศ.และ สำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อย่างไรบ้างนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานที่ชัดเจน เพราะสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มขยายมากขึ้น ในส่วนของสถานศึกษาในสังกัด  สพฐ.เบื้องต้นทราบว่ามีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประมาณ 60 เขต ที่ได้รับผลกระทบ ทาง ศธ.ได้จัดสรรงบประมาณ เขตพื้นที่ละ 300,000 บาท เพื่อช่วยซ่อมแซมอาคารสถานที่ในเบื้องต้น ” น.ส.ตรีนุชกล่าว

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตนีมีความเป็นห่วงเรื่องการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนตุลาคมนี้รัฐบาลได้จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ฉีดให้นักเรียน นักศึกษาที่มีอายุ 12-18 ปี บริบรูณ์ โดยกระทรวงสาธารสุข (สธ.) จะเร่วฉีดวัคซีนให้นักเรียนโดยเร็ว เพื่อให้นักเรียนสามารถมาเรียนรูปแบบปกติ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ที่จะเปิดวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ การเปิดเรียนในสถานศึกษา จะต้องดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในพื้นที่อีกครั้งด้วย ว่ามีการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน  ส่วนจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัยและโรงเรียนได้รับความเสียหายไม่สามารถจัดสถานที่ในการฉีดได้  ให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประเมินและตัดสินใจร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดในการดำเนินการ โดยจะต้องดูความพร้อมว่าในสภาพพื้นที่นั้นจะสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนให้นักเรียนได้หรือไม่

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image