รายงานการศึกษา : มรส.ขับเคลื่อน ‘ระนอง’ ยกระดับท้องถิ่น-แก้ปัญหายากจน

รายงานการศึกษา : มรส.ขับเคลื่อน ‘ระนอง’ ยกระดับท้องถิ่น-แก้ปัญหายากจน

เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ขับเคลื่อนโครงการตามพระราโชบายด้านการพัฒนาท้องถิ่น แผนงานแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในเขตชนบท ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อร่วมยกระดับท้องถิ่น สร้างแนวทางการพัฒนาตนเองสู่การเลี้ยงชีพ แก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในเขตพื้นที่ชนบท

โดยร่วมพัฒนาสินค้า ผักปลอดสารพิษ พริกไทยดำ กะปิ ปลาเค็มฝังทราย ปลาแดดเดียว ปลาสวรรค์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป การเลี้ยงเป็ด การแปรรูปไข่เป็ดเป็นไข่เค็มสมุนไพร ที่ ต.กำพวน และ ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง

ผศ.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส.กล่าวว่า มรส.ได้รับพระบรมราโชบายในการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ให้มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของชาติ ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษา และพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน โดยเน้นด้านการพัฒนาท้องถิ่นเป็นพิเศษ ให้ทุกสถาบันต้องทำงานให้เข้าถึงประชาชน พร้อมรับทราบปัญหาความต้องการ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาทางช่วยเหลือแก้ไข และปรับตัวให้เหมาะสมตามสภาพ และประเพณีของท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ซึ่ง นายอรุณ หนูขาว ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการ กล่าวว่า จากหลักการดังกล่าว นำมาสู่การชี้เป้าเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนของ มรส.โดยได้รับมอบหมายให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ ต.กำพวนและ ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง โดยมีกลุ่มอาชีพที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในเขตพื้นที่ชนบท จำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษบ้านทุ่งถั่ว กลุ่มสตรีทำขนมบ้านโตนกรอย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านทะเลนอก และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพลังเป็ด

Advertisement

มรส.ได้พัฒนา และยกระดับมาตรฐานการผลิต การแปรรูป การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึง กระบวนการจัดการด้านการส่งเสริมการขาย การตลาดออนไลน์ การทำบัญชีครัวเรือน การกำหนดราคาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันของชุมชน ตลอดจนการสร้างมาตรฐาน อย., GMP และ GAP ของผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผักปลอดสารพิษชนิดต่างๆ พริกไทยดำ กะปิ ปลาเค็มฝังทราย ปลาแดดเดียว ปลาสวรรค์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป การเลี้ยงเป็ด การแปรรูปไข่เป็ดเป็นไข่เค็มสมุนไพร เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มรส.ได้นำองค์ความรู้จากศาสตร์ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยฯ บูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการประสานความร่วมมือของ อ.สุขสำราญ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ สุขสำราญ สำนักงานเกษตรอำเภอสุขสำราญ เพื่อต่อยอด และยกระดับสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ชุมชน ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ด้านเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และให้ประชาชน นำไปต่อยอดในภาคการผลิตเพื่อการจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image