ศธ.แถลงสรุปผลตรวจสอบหนังสือนิทานชุด ‘วาดหวัง’ พบ 3 เล่ม มีประโยชน์ ส่วนอีก 5  เข้าข่ายควรระวัง

ศธ.แถลงสรุปผลตรวจสอบหนังสือนิทานชุด ‘วาดหวัง’ พบ 3 เล่ม มีประโยชน์ ส่วนอีก 5 เข้าข่ายควรระวัง พร้อมส่งข้อสรุปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้พิจารณาต่อ

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เเละนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. แถลงข่าวสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบหนังสือการ์ตูนนิทานที่อาจมีเนื้อหาเข้าข่ายปลุกระดมเยาวชน ที่แต่งตั้งโดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.

นางดรุณวรรณกล่าวว่า คณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบหนังสือการ์ตูนนิทานชุดวาดหวังนั้น เป็นการตรวจสอบไม่ได้ตัดสิน เนื่องจากศ​ธ. ได้รับข้อร้องเรียนจากหลายฝ่ายที่มีข้อห่วงใยในนิทานชุดนี้ อีกทั้ง ศธ.มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเยาวชน และหนังสือชุดนี้เขียนไว้ชัดเจนว่าจำหน่ายให้ผู้ที่มีอายุ 5-12 ปี ซึ่งการทำงานครั้งนี้ไม่มีอคติใดๆ เป็นเพียงมุมมองทางวิชาการ เชิงกฎหมาย พร้อมกับมีข้อเสนอแนะให้ด้วย ซึ่งมุมมองวิชาการมาจากผู้เชี่ยวชาญเด็กและเยาวชน โดยมี นพ.สุริยะเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานชุดเฉพาะกิจด้วย โดยคำนิยามสำหรับเด็ก 0-6 ปี ไม่สามารถแยกแยะระหว่างโลกจินตนาการและโลกความเป็นจริงได้ ดังนั้นอะไรก็ตามที่มีความสุ่มเสี่ยง ทำให้เด็กเกิดจินตนาการไปในทิศทางที่อาจจะทำให้เข้าใจผิด หรือท้ายที่สุดอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคตได้

นางดรุณวรรณกล่าวว่า จากหนังสือ 8 เล่ม นพ.สุริยเดวให้ความคิดเห็นทางวิชาการ ดังนี้ คณะทำงานชุดเฉพาะกิจฯ พบว่าหนังสือ 3 ใน 8 เล่ม คือ เรื่อง “ตัวไหนไม่มีหัว”, “เด็กๆ มีความฝัน” และ “แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ” เป็นหนังสือที่ดีและมีประโยชน์ มีภาพ เนื้อหา ข้อสรุปที่ดี น่าชื่นชม ซึ่งสถานศึกษา ผู้ปกครอง เด็ก และเยาวชนสามารถนำไปใช้ได้ เช่น เรื่องตัวไหนไม่มีหัว หนังสือเสนอว่าพยัญชนะทุกตัวมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน สองที่เด็กจะได้รับคือ หนังสือสอนว่าคนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และการเคารพความแตกต่างกันและกัน ส่วนเรื่องมังกรไฟ ให้ความรู้เรื่องไฟป่า ทำให้เยาวชนตระหนักรู้ถึงปัญหาไฟป่า ส่วนหนังสือเรื่อง เด็กทุกคนมีความฝัน หนังสือแสดงให้เห็นว่า ทุกคนมีความฝันถึงเสรีภาพ การใช้ชีวิตที่ปกติที่เราจะมีความฝันร่วมกัน แม้จะมีบางส่วนของเนื้อหาที่มีภาพสะท้อนของเด็กที่มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น เช่น นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นความคิดเห็นที่ไม่ได้เลวร้าย เป็นต้น ดังนั้นในมุมมองของนักวิชาการมองว่า หนังสือทั้ง 3 เล่ม ดีและมีประโยชน์ สนับสนุนให้ผู้ปกครองนำไปใช้สอน ปลูกฝังแง่มุมที่ดีและมีประโยชน์กับเด็กต่อไป

“ส่วนหนังสืออีก 5 เล่ม คือ “จ.จิตร”, “10 ราษฎร, “แม่หมิมไปไหน?”, “เป็ดน้อย” และ “เสียงร้องของผองนก” ทางนักวิชาการให้ความเห็นว่า หนังสือเหล่านี้มีข้อควรระวังหลายเรื่อง เนื้อหาหลายอันที่ส่อความรุนแรง ที่สำคัญคือหาจุดที่เหมาะสมสำหรับเด็กไม่ได้ ลักษณะบางเล่มไม่มีคำพูด เป็นการเล่าด้วยภาพอย่างเดียว ซึ่งเด็กจะจำภาพนั้นไปตลอดชีวิต เพราะเด็กไม่สามารถตัดสินอะไรได้ เด็กไม่ได้อยู่โลกความเป็นจริง เด็กจะอยู่ในโลกจินตนาการ ซึ่งเด็กจะเกิดจินตนาการนำไปสู่การลอกเลียนแบบได้ ซึ่งแพทย์เป็นห่วงเรื่องนี้มาก เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้ ดังนั้นเมื่อหนังสือ 5 เล่ม ไม่มีจุดที่เหมาะสมกับเด็ก สิ่งที่เป็นข้อกังวลของแพทย์คือ หนังสือเหล่านี้อาจจะบ่มเพาะความรู้สึกรุนแรง ที่อาจจะปลูกฝังเยาวชนในอนาคตได้ ดังนั้นในมุมมองของแพทย์ยังมีความไม่สบายใจ จึงควรระวังในการนำไปใช้ด้วย” นางดรุณวรรณกล่าว

Advertisement

นายภูมิสรรค์ กล่าวว่า ความขัดแย้งทั่วโลกถือเป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องแก้ไขด้วยการสร้างพลังบวก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีไม่ใช่ความรุนแรง ซึ่งคุณหญิงกัลยาท่านให้ความสำคัญตรงนี้มาก การทำงานของคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ มีจุดประสงค์เพื่อจะช่วยตรวจสอบสิ่งที่สังคมกำลังมีความขัดแย้งทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และกระทรวงศึกษาธิการมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการปกป้องเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ได้ในวันนี้ จะจัดทำข้อเสนอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และคุณหญิงกัลยา พิจารณาเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป พร้อมกับนำข้อสรุปให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้ สพฐ.นำข้อสรุปพิจารณาเลือกหนังสือเข้าโรงเรียน และเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานด้านดิจิทัลต่อไป

“เราทำหน้าที่ตรวจสอบเท่านั้น ส่วนหน่วยงานอื่นจะนำข้อสรุปนี้ไปตัดสินใจในทิศทางไหน เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้นว่าจะทำการระงับการขายหนังสือหรือไม่ ส่วนจะขยายผลไปตรวจสอบหนังสืออื่นๆ หรือไม่ คงไม่ทำเช่นนั้น เพราะประเทศของเราเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าในสังคมมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในสังคมในทุกๆเรื่อง เป็นหน้าที่ของรัฐในการตรวจสอบอย่างมีวุฒิภาวะ และตรวจสอบตามหลักวิชาการต่อไป” นายภูมิสรรค์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image