สัมภาษณ์พิเศษ สุรศักดิ์ อินศรีไกร ปักธง เพิ่มโอกาส สร้างคุณภาพ ‘กศน.’

สัมภาษณ์พิเศษ สุรศักดิ์ อินศรีไกร ปักธง เพิ่มโอกาส สร้างคุณภาพ ‘กศน.’

หมายเหตุนายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ลูกหม้อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 1 เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ กศน. “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ เปิดทิศทางการทำงาน พัฒนาการศึกษานอกระบบยุคใหม่ …

๐จาก สพฐ.มาอยู่ กศน.รู้สึกอย่างไรบ้าง?

“กศน.เป็นการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งมีทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผมเองชีวิตราชการส่วนใหญ่อยู่ในการศึกษาในระบบมาตลอด มาอยู่ กศน.ถือเป็นความท้าทายอีกบทบาทหนึ่ง ทั้งนี้ การจัดการศึกษานอกระบบเป็นการจัดการศึกษามีความหลากหลาย ส่วนหนึ่งเป็นการจัดการศึกษาให้เด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ขาดโอกาส หรือเด็กที่ตกหล่นจากการศึกษาในระบบ ให้เรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อยคือ มัธยมศึกษาปีที่ 6 ขณะเดียวกันยังจัดการศึกษาให้กับคนอีกหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่พลาดโอกาสทางการศึกษา ผู้พิการ ด้อยโอกาส การศึกษาผู้ใหญ่ โดยมีหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง เป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อส่งเสริมอาชีพ ดังนั้น กลุ่มคนที่มาเรียน กศน.จึงมีความหลากหลายแตกต่างจากเด็กที่เรียนในระบบ เป็นการจัดการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดไปจนตลอดชีวิต ถือว่ามีความครอบคลุม และกว้าง

๐ที่ผ่านมาจัดการศึกษาในระบบมาก่อน ช่วยให้การบริหาร กศน.ง่ายขึ้นหรือไม่?

Advertisement

“การจัดการศึกษาในระบบและนอกระบบต่างกันที่กลุ่มเป้าหมาย การเรียนรู้คล้ายคลึงกัน คือ เน้นคุณภาพผู้เรียน ทักษะวิชาการ อาชีพ และทักษะชีวิต ทำให้ชีวิตดีขึ้น เพียงแต่รูปแบบการจัดการศึกษาอาจจะต่างกันตรงที่ กศน.ไม่มีระบบมานั่งเรียนในโรงเรียน แต่ใช้รูปแบบอื่นๆ อย่างเช่น ออนไลน์ ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการอาชีวศึกษาเข้ามาช่วยเสริมในเรื่องอาชีพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่วนใดที่การศึกษาในระบบรับได้ก็รับไป ส่วนที่ในระบบรับไม่ได้ กศน.ก็ต้องรับต่อเนื่อง ไม่ให้เด็กตกหล่น”

๐น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ขับเคลื่อนเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญ?

“รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบให้ กศน.ดูแลเด็กตกหล่น ดูแลคนที่ยังด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิการ สกรีนคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงฝากจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้หญิงตั้งครรภ์ สามารถดูแลบุตรได้อย่างถูกต้อง ให้เด็กคลอดออกมาแล้วมีคุณภาพ เพราะถือเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ในอนาคต”

Advertisement

๐หลายคนแบ่งชนชั้นเด็กที่เรียน กศน.อีกระดับหนึ่ง?

“คงเป็นเพียงคนบางกลุ่ม อยากให้มองว่าทุกคนมีคุณค่า เพียงแต่มีความพร้อมไม่เท่ากัน คนที่มีความพร้อมก็มีโอกาสเรียนในสิ่งที่เลือก ขณะเดียวกันคนที่ไม่พร้อมรัฐก็ต้องดูแล วันนี้เรียนที่ไหนก็ได้ ที่สามารถทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์ สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นสถานที่การเรียนไม่ได้เป็นตัวแบ่งแยกคน อยู่ที่ว่ารัฐจะเข้าไปส่งเสริมอย่างไร และถ้าดูประวัติย้อนหลังคนที่จบ กศน.หลายคนก็ประสบความสำเร็จในชีวิต ช่วยพัฒนาประเทศ วันนี้ต้องปรับกระบวนการคิดใหม่ เรียนตรงไหนก็ได้ ถ้าสามารถทำให้ตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเรามีการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยปัจจุบันมีผู้ที่เรียน กศน.รวม 843,502 คน แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา 64,966 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 319,575 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 453,159 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 5,802 คน”

๐ภาพที่อยากเห็น กศน.ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า?

“อยากเห็นการให้โอกาสทางการศึกษาลงไปถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงปั้นปลายชีวิต ทำอย่างไร กศน.จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ ให้ทุกกลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาตัวเองให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันทำอย่างไรจะจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งเรื่องของความรู้ ความสุข ความดีและความเก่ง สามารถที่จะมีอาชีพ มีรายได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองดีขึ้น ทั้งหมดนี้กว่าจะถึงเป้าหมายได้ กศน.ต้องจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ถึงเป้าหมาย วันนี้ กศน.ต้องปรับกระบวนทัศน์การจัดการให้ทั้งโอกาสและคุณภาพ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือเป็นเนื้อเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน แม้จะแตกต่างวิธีการ”

๐งานยากของ กศน.คือเรื่องใด?

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนที่ต้องพร้อมทุ่มเทเพื่อองค์กรเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง รวมถึงปริมาณที่ต้องมีคุณภาพเหมาะสม อีกส่วนคือการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อน กศน. จะขับเคลื่อนองค์กรเดียวคงเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ ดังนั้น ต้องหาเครื่องข่ายเข้ามาช่วยซับพอร์ต ส่งเสริมพัฒนาให้คนมีคุณภาพ อีกส่วนคือสื่อเทคโนโลยี เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นโลกไร้พรมแดน ซึ่งตรงนี้ต้องไปคาบเกี่ยวกับงบประมาณ ดังนั้น กศน.ต้องหาแนวทาง โดยอยากเปิดโอกาสให้ทางจังหวัดและพื้นที่คิดค้นการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง วันนี้หมดยุคที่ตัดเสื้อไซซ์เดียวใส่ได้ทุกคนแล้ว หน้าที่ กศน.แค่มอบนโยบาย วางเป้าหมายให้แต่ละพื้นที่ไปวางยุทธศาสตร์ หาวิธีการขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จ เพื่อให้คนในพื้นที่มีโอกาสทางการศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

๐หลักสูตรต่างๆ ต้องปรับด้วยหรือไม่?

“คงต้องปรับให้ล้อไปในทิศทางเดียวกับ สพฐ. ซึ่งมีหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งผมเองก็รอดูและเตรียมปรับให้ไปในทิศทางเดียวกัน”

๐การผ่านงานในจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้เข้าใจบริบทแต่ละพื้นที่มากขึ้นหรือไม่?

“ใช่ บริบทแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เราไม่สามารถทำให้ทุกพื้นที่มีความสมบูรณ์เหมือนกัน สถานศึกษาจึงกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่ผมบอกว่าวันนี้เราสร้างเป้าหมาย คือโอกาส และคุณภาพ ส่วนประสิทธิภาพสร้างในส่วนของการขับเคลื่อน ซึ่งต้องอาศัยคนในพื้นที่เข้ามาช่วย ใช้พื้นที่เป็นฐาน ให้พื้นที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน จึงอยากเห็นภาพ กศน.ตำบลคุณภาพเกิดขึ้น เพราะสนามรบที่แท้จริงอยู่ตรงนั้น เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน ดังนั้น ต้องสร้างให้ กศน.ตำบลมีความเข้มแข็ง”

๐กฎหมายต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. …?

“ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบฯ อยู่ขั้นตอนรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีการเลื่อนออกไป เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ หากสภาให้ความเห็นชอบ ทาง กศน.ก็เดินหน้าจัดทำกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ตามกฎหมายใหม่ กศน.จะมีความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้าง โดยจะมีการยกสถานะเป็นกรม บริหารจัดการในรูปแบบนิติบุคคลไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัด ศธ. คิดว่าจะทำให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากสภาอีกครั้ง”

๐ถ้าปรับได้ จะเป็นผลดีหรือไม่?

“ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการจัดการศึกษา เหมือน สพฐ. หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรหลักใน ศธ. หรือแท่งหนึ่งในการบริหารงาน ดังนั้น กศน.ก็เป็นการจัดการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะมีความสะดวก และมีการบริหารจัดการที่คล่องตัว รวดเร็วมากขึ้นในการทำงาน ส่วนตำแหน่งเลขาธิการ กศน.ปัจจุบันก็จะปรับเป็นอธิบดี กศน.แทน ส่วนตัวยังมองว่าเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย”

๐ ภาพรวมการจัดการศึกษา กศน.มีเรื่องใดต้องปรับปรุงแก้ไข ?
“กศน.ขับเคลื่อนการทำงานมาดีตามลำดับ เพียงแต่ต้องหาสิ่งมาเติมเต็มในเรื่องคุณภาพ โดยเฉพาะข้อมูลสารสนเทศที่มีอยู่ ที่ต้องเป็นข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง ทั้งจำนวนเด็กตกหล่นที่มีอยู่ จำนวนเด็กที่ กศน.ต้องดูแลว่ามีจำนวนเท่าไร จัดอบรมสร้างอาชีพให้คนไปแล้วมากน้อยแค่ไหน คุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่ กศน.รับผิดชอบ มีอะไรอีกบ้างที่ต้องมาเติมเต็มในส่วนที่ขาด ผมเองเปิดโอกาสให้พื้นที่ได้เข้ามาระดมพลังสมอง สร้างจุดเน้น และนโยบายของ กศน.ในปีงบประมาณ 2565 ไม่ได้กำหนดลงไปจากส่วนกลางเหมือนที่ผ่านมา เพราะมองว่าฝ่ายปฏิบัติ ทั้ง กศน.จังหวัด กศน.ตำบล และ กศน.อำเภอ คือผู้ที่อยู่หน้างานอย่างแท้จริง ฉะนั้น คนกลุ่มนี้รู้ดีว่า กศน.ควรเติมเต็มตรงจุดไหน ดังนั้น จึงดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นคณะทำงาน สร้างจุดเน้นการทำงานของ กศน.ในปี 2565”

๐ เรื่อง กศน.เปิดสอนปริญญาตรี เป็นไปได้หรือไม่ ?
“ส่วนตัวมองว่า ถ้าจะจัดการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาในระบบมีสอนถึงขั้นไหน กศน.ควรมีถึงขั้นนั้น แต่ต้องดูข้อกฎหมาย และต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ เสริมความรู้เพื่อเตรียมความพร้อม โดยเน้นเฉพาะกลุ่มตกหล่น กลุ่มด้อยโอกาส”

๐ รู้ตัวล่วงหน้าหรือไม่ ว่าจะได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเลขาธิการ กศน. ?
“ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน แค่รู้ว่ามีโอกาสปรับย้ายตำแหน่ง ด้วยความอาวุโสทางราชการ ซึ่งผมเป็นซี 10 มาตั้งแต่ปี 2561 ดูความอาวุโสก็เหมาะสม ให้ไปทำงานตรงไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้ตรวจราชการ ศธ.หรือรองเลขาธิการแท่งใดแท่งหนึ่ง เพราะเป็นซี 10 ด้วยกัน ไม่คาดคิดว่า จะมาเป็นเลขาธิการ กศน.ซึ่งผู้บังคับบัญชาเองคงพิจารณาแล้วว่า น่าจะขับเคลื่อนงานของเลขาธิการ กศน.ได้

ส่วนตัวถือเป็นความท้าทาย และต้องทำงานให้เห็นผล ให้เห็นว่าคนที่ทำงานการศึกษาในระบบมาแล้ว ก็สามารถทำงานพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้ดีได้

หลังเข้ามารับตำแหน่ง ชาว กศน.ต้อนรับด้วยความอบอุ่น มีความเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นครอบครัว กศน.ผมคิดว่าถ้าเรามีวัตถุประสงค์มาทำงานเพื่อ กศน.เพื่อองค์กร และเพื่อประชาชน ผมคิดว่าทุกที่ต้องรับเรา ที่สำคัญ ไม่ได้มาแบบผู้บังคับบัญชา แต่มาแบบพี่ แบบน้อง แบบครอบครัว เหนื่อยไปด้วยกัน ผมพร้อมที่จะมาเป็นหนึ่งในครอบครัว กศน.”

๐ ได้รับนโยบายจากนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ในฐานะกำกับดูแล กศน.แล้วหรือไม่ ?
“ได้เข้าพบแล้ว นางกนกวรรณเน้นย้ำนโยบายการขับเคลื่อน กศน.ให้ประสบความสำเร็ว และเน้นเรื่องการพัฒนาอาชีพให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเน้นดูอาชีพที่หลากหลาย และเน้นเรื่องหลักสูตรการสอนผู้พิการที่ต้องดูแล”

๐ เตรียมพร้อมปรับการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างไรบ้าง ?
“กศน.จัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีผลกระทบ ส่วนการสอบ จากเดิมที่จัดสอบรวมสนามใหญ่ ส่งผลให้มีนักเรียนมาสอบน้อย เพราะต้องเดินทางไกล ก็ปรับกระจายสนามสอบไปที่ตำบล ทำให้คนมาสอบมากขึ้น ดังนั้น ต่อไปไม่ว่าจะมีโรคโควิด-19 หรือไม่ จะกระจายสนามสอบแบบนี้ เพื่อให้ผู้เรียนสะดวกมากขึ้น และเป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)”

๐ มีข้อครหาหรือไม่ ว่ามานั่งตำแหน่งนี้เพราะการเมือง ?
“คงไม่มี คิดว่ามานั่งตรงนี้เพราะความอาวุโส และเป็นความท้าทายว่ามาทำงานตรงนี้แล้ว จะสามารถขับเคลื่อน กศน.ได้มากน้อยแค่ไหน ทุกคนที่ผู้บังคับบัญชาจัดลงตำแหน่ง คงมีการวิเคราะห์ ดูความเหมาะสมแล้ว ว่าใครควรไปนั่งตรงไหน เพื่อสามารถขับเคลื่อนงานการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ”

๐ ได้พูดคุยกับนายวรัท พฤกษาทวีกุล ผู้ตรวจราชการ ศธ.อดีตเลขาธิการ กศน.หรือไม่ ?
“ได้คุยกับนายวรัท สนิทส่วนตัว เพราะอบรมเสริมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส.) มาด้วยกัน อยู่กลุ่มเดียวกัน นายวรัทจะเรียกผมว่าหัวหน้า เพราะผมเป็นหัวหน้ากลุ่ม นายวรัทเป็นน้องที่อยู่ในกลุ่ม ยังรักยังผูกพัน ไม่มีปัญหาอะไร นายวรัทเองยังบอกว่าดีแล้ว ที่ผมมาทำงานตรงนี้ เพราะถ้ามีปัญหาอะไรจะได้พูดคุยกัน”

๐ คติประจำใจที่ใช้ในการทำงาน ?
“ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ว่าหน้าที่ไหนที่ได้รับมอบหมาย โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสิ่งสำคัญ ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราก้าวมาถึงตรงนี้ได้ จากเด็กยากจน เด็กที่อยู่ท้องไร่ท้องนา สามารถขึ้นมาสู่ตำแหน่งเลขาธิการ กศน.ได้ ก็เพราะเราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะคุณภาพคนอยู่ที่คุณภาพงาน เป็นตัวการันตี โดยไม่ต้องไปพูดเรื่องความเก่งของตัวเองให้ใครฟัง งานจะเป็นตัวบอกเอง”

ประวัติ

นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการ กศน.เกิด และเติบโต ที่ จ.ปัตตานี แม่เป็นชาวไร่ ชาวนา พ่อเป็นทหารชั้นประทวน รายได้จึงไม่มากนัก ลูกทั้ง 3 คน จึงต้องช่วยกันทำงาน

นายสุรศักดิ์เป็นลูกชายคนกลาง วัยเด็กจึงต้องทำหลายอาชีพทั้งกรีดยาง ทำสวนเพื่อช่วยคุณแม่หารายได้ รวมถึง ไปเป็นเด็กวัด ทำให้มีความอดทน มุมานะ แม้กระทั่งการเรียน มีความฝันอยากเรียนทหาร แต่แม่ใม่ให้เรียน และให้ไปสอบเป็นครู เหตุผลเพราะได้ปิดเทอม จะได้ใช้ช่วงเวลาตรงนั้นกลับมาช่วยเกี่ยวข้าว เพราะเป็นงานที่ต้องใช้กำลัง

ตอนเด็กๆ เป็นลูกศิษย์วัด เพราะไม่อยากรบกวนที่บ้านมากนัก จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี และเข้ารับราชการตามลำดับ เป็นคนเดียวของบ้านที่ได้รับราชการ สร้างความภาคภูมิใจให้ครอบครัว…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image