น.ร.ไทยฉีดไฟเซอร์แล้ว 1 ล้านคน เผยเดดไลน์ 22 ต.ค. แจงกรอบเปิดเรียน 1 พ.ย.

น.ร.ไทยฉีดไฟเซอร์แล้ว 1 ล้านคน ‘อนุทิน-ตรีนุช’ เผยเดดไลน์ 22 ต.ค. แจงกรอบเปิดเรียน 1 พ.ย.

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) พัฒนาการศึกษาและพัฒนาสุขภาพผู้เรียนช่วงวัยแบบบูรณาการ สร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพผ่านโครงการ “สบช.สัญจร” ระหว่าง สธ.กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ล่าสุดสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ให้เด็ก 12-18 ปี เพื่อเดินหน้าเปิดเรียนวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ปัจจุบันฉีดแล้วกว่า 1 ล้านคน และอยู่ระหว่างการทยอยฉีดอีกจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้ฉีดเฉพาะนักเรียนในระบบเท่านั้น แต่นักเรียนนอกระบบ หรือเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็ต้องได้รับวัคซีนด้วย เพราะเป็นประชาชนคนไทยที่มีสิทธิได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงได้สั่งการให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กำชับไปในที่ประชุมอีโอซีของ สธ. วันที่ 21 ต.ค.นี้ เพื่อสั่งการไปยังสถานพยาบาล จุดฉีดวัคซีนให้เปิดรับลงทะเบียนฉีดวัคซีน หรือวอล์กอิน สำหรับผู้อายุ 12-18 ปี อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ยังไม่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ จึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน ดังนั้น ขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานของตนเอง ไปรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือ รพ.ตามสิทธิ

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า มีนักเรียนแจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีนราว 3.8 ล้านคน จากทั้งหมด 5 ล้านคน โดย ศธ.มีโรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่ง มีสภาพหลากหลายตามพื้นที่ โดยในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จะมีการพิจารณาความชัดเจนข้อสรุปกรอบการเปิดเรียน โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยอันดับ 1, จำนวนครูฉีดวัคซีนกี่เปอร์เซ็นต์ ทั้งพื้นที่สีแดงเข้ม สีแดง สีเหลือง อาจมีความแตกต่างกัน

Advertisement

“โดยโรงเรียนใดเป็นไปตามหลักการที่ สธ.ยืนยันมา ก็จะทยอยเปิดไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการระดับจังหวัดในการพิจารณาด้วย เพราะจะมีความเข้าใจสภาพพื้นที่ได้ดี จึงต้องดูว่าวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะเปิดเรียนแบบออนไซต์ได้กี่แห่ง เด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนก็สามารถมาเรียนได้ ส่วนที่ยังไม่ได้เปิดออนไซต์ก็เปิดเรียนรูปแบบอื่น” น.ส.ตรีนุชกล่าว

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ) กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การเปิดภาคเรียน นอกจากดูมาตรการความปลอดภัยที่สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรฐานแล้ว จะพิจารณาเรื่องการระบาดของโควิดในพื้นที่แบบระดับ ตำบล และอำเภอมาประกอบการพิจารณา พื้นที่ไหนระบาดน้อยก็เปิดก่อน ส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการระบาดของโควิดอย่างหนัก ก็อาจมีการกลับไปใช้แนวทางเดิมที่เคยปฏิบัติมาก เช่น การเรียนแบบออนไลน์แทน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image