เผย 9 เดือน ร.ร.เอกชนปิดตัวแล้ว 70 แห่ง คาดเทอม 2 เปิดเรียนปกติไม่ได้ ปิดกิจการเพิ่มอีก 100 แห่ง

เผย 9 เดือน ร.ร.เอกชนปิดตัวแล้ว 70 แห่ง คาดเทอม 2 เปิดเรียนปกติไม่ได้ ปิดกิจการเพิ่มอีก 100 แห่ง

‘กนกวรรณ’ เร่งถกเลขาฯ กช.หาทางช่วยเหลือ ร.ร.เอกชน หลังทยอยปิดจากพิษเศรษฐกิจ-โควิด นายกสมาคม ร.ร.เอกชน เผยแค่ 9 เดือน ร.ร.ปิดกิจการแล้ว 70 แห่ง คาดเทอม 2 เปิดเรียนปกติไม่ได้ ปิดตัวเพิ่มอีก 100 แห่ง ชี้ผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอมพุ่ง 1 พันล้าน วอนรัฐเร่งช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี ออกประกาศเรื่องการปิดสถานศึกษา/ เลิกกิจการโรงเรียน ณ สิ้นปีการศึกษา 2564 เนื่องจากโรงเรียนประสบการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งยาวนานกว่าที่คาดคิด โรงเรียนจึงประสบปัญหาสภาพคล่องนั้น ตนรับทราบปัญหาโรงเรียนเอกชนแล้ว ทั้งนี้ ขอหารือนายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ว่ามีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร หากได้แนวทางช่วยเหลือแล้ว จะนำเสนอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาต่อไป

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งประสบปัญหาหนักมาก เพราะตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนเอกชนหลายแหล่งยังไม่สามารถเก็บค่าเทอมจากผู้ปกครองได้ ขณะนี้พบผู้ปกครองทั่วประเทศค้างจ่ายค่าเทอมมากถึง 1,000 ล้านบาทแล้ว หรือแม้จะเก็บค่าเทอมได้ ก็ต้องนำไปจ่ายเป็นเงินเดือนครู ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่อง และก่อนจะเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 มีนักเรียนย้ายออกจากโรงเรียนพอสมควร เพราะนักเรียนเหล่านี้ไม่อยากจ่ายค่าเทอม บางส่วนต้องย้ายถิ่นฐานตามผู้ปกครองไป ทำให้โรงเรียนแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามไปด้วย จากที่ทราบโรงเรียนที่มีนักเรียนลาออกไป มีตั้งแต่หลักหน่วยจนถึงหลักสิบคน

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า แม้ผู้ปกครองจะค้างจ่ายค่าเทอมโรงเรียนเอกชนมากถึง 1,000 ล้านบาท แต่โรงเรียนยังไม่กล้าทวงค่าเทอมจากผู้ปกครองมากนัก เพราะกลัวว่าหากทวงไป จะมีเรื่องร้องเรียน แต่ถ้าโรงเรียนไม่ทวงเลย โรงเรียนก็อยู่ยาก อย่างไรก็ตาม แม้โรงเรียนจะขาดสภาพคล่อง แต่โรงเรียนได้รับความช่วยเหลือจากครูบ้าง โดยครูยอมรับเงินเดือนเพียง 50% เพื่อให้โรงเรียนอยู่รอด แต่จะมีโรงเรียนส่วนหนึ่งที่ไปไม่รอด สาเหตุมาจากหลายโรงเรียนไม่มีเงินเก็บเอามาไว้หมุน เมื่อไม่มีเงินเก็บ ก็ต้องเลิกกิจการไป

Advertisement

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวอีกว่า จากข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2564 พบว่ามีโรงเรียนเอกชนเลิกกิจการไป 60-70 แห่ง แม้จะมีโรงเรียนเอกชนตั้งใหม่มาบ้าง แต่เป็นโรงเรียนที่เรียกเก็บค่าเทอมแพง และขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนอีกประมาณ 10 แห่ง ส่งหนังสือแจ้งยกเลิกกิจการไปที่ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แล้ว ทั้งนี้ ต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนจาก ศธจ.อีกครั้งหนึ่ง

“ผมเสนอปัญหาให้นางกนกวรณ และนายพีรศักดิ์ รับทราบถึงปัญหาแล้ว ขณะนี้ทาง สช.อยู่ระหว่างหาวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมอยู่ อย่างไรก็ตาม ผมขอให้รัฐเร่งช่วยเหลือ โดยให้โรงเรียนทั้งรัฐ และเอกชน ได้เปิดเรียนในโรงเรียนอย่างปลอดภัย โดยรัฐควรจะสนับสนุนชุดตรวจ ATK มาตรวจก่อนเปิดเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง และนักเรียนได้ เพราะขณะนี้โรงเรียนไม่มีงบจัดซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจนักเรียน และครูได้ เชื่อว่าถ้า ศธ.ปรับระเบียบ หรือปลดล็อกระเบียบการใช้งบใหม่ให้ยืดหยุ่น เช่น ปลดล็อกงบในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้โรงเรียนนำงบเหล่านี้มาใช้ในการซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อใช้ตรวจนักเรียน จะทำให้โรงเรียนประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก” ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวว่า เชื่อว่าอย่างน้อยถ้าโรงเรียนเปิดเรียนแบบปกติได้ จะทำให้โรงเรียนเก็บค่าเทอมได้ ที่ผ่านมาโรงเรียนไม่กล้าเก็บค่าเทอมภาคเรียนที่ 2 กับผู้ปกครอง เพราะกลัวว่าเมื่อเปิดเทอมแล้ว ถ้าไม่สามารถมาเรียนในโรงเรียนได้ ต้องจัดการเรียนการสอนรูปแบบอื่น สิ่งที่ตามมาคือโรงเรียนต้องคืนค่าเทอมให้ผู้ปกครอง ทั้งนี้ คาดว่าในภาคเรียนที่ 2 ถ้าโรงเรียนยังไม่ได้เปิดเรียนแบบปกติ โรงเรียนเอกชนอาจจะต้องปิดตัวเพิ่มอีก 100 แห่ง” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

Advertisement

ดร.เจต ประภามนตรีพงศ์ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนในเครือประภามนตรี กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่โรงเรียนเอกชนเผชิญมา ไม่ใช่แค่สถานการณ์การแพร่ระบาดเท่านั้น ที่ทำให้โรงเรียนประสบปัญหา ก่อนหน้านี้ประมาณ 5-10 ปี เจอปัญหาเรื่องอัตราการเกิดของประชาชนที่ลดลง ขณะที่จำนวนโรงเรียนเท่าเดิม ประกอบกับโรงเรียนภาครัฐขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

“โรงเรียนเอกชน ไม่ใช่แค่แบ่งเบาภาระของภาครัฐเท่านั้น ยังแบ่งเบาเรื่องงบประมาณอย่างมาก จากข้อมูลประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนช่วยรัฐแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเกือบ 10,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันช่วยรัฐแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย 6,000 ล้านบาทต่อปี สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครคำนึงถึง หลายคนมองว่าโรงเรียนเอกชนคือธุรกิจ เพราะเก็บค่าเทอม จึงอยากวิงวอนภาครัฐ โดยเฉพาะผู้นำประเทศ คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะนับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดในปี 2563 จนถึงปี 2564 ภาครัฐไม่ได้ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน ผู้ปกครองได้รับผลกระทบ ทำให้จ่ายค่าเทอมไม่ได้ แต่โรงเรียนยังมีรายจ่ายประจำอยู่ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้มากว่า 2 ปี จนหลายแห่งประสบปัญหา ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้ เหมือนโรงเรียนเอกชนถูกเมินเฉย ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ หากโรงเรียนเอกชนล้มกันหมด ภาระต่างๆ จะตกไปอยู่โรงเรียนรัฐ ครูกว่า 1 แสนคนอาจถูกลอยแพ” ดร.เจต กล่าว

ดร.เจตกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา แม้ภาครัฐจะให้โรงเรียนเอกชนกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็ไม่ได้ช่วยเหลือโรงเรียนมากนัก เพราะโรงเรียนต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ดี ส่วนธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ให้โรงเรียนเอกชน เพราะกังวลว่าหากธนาคารยึดทรัพย์ ยึดที่ดินของโรงเรียนเอกชนแล้ว สังคมอาจจะตราหน้า หรือโจมตีธนาคารได้ ดังนั้น โรงเรียนเอกชนจึงไม่มีที่พึ่งด้านการเงิน เพื่อช่วยเหลือให้โรงเรียนรักษาสภาพคล่องได้เลย

“ส่วนปัญหาผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอมนั้น โชคดีที่ผู้ปกครองเข้าใจ จ่ายค่าเทอมให้โรงเรียนบ้าง บางส่วนขอแบ่งจ่าย อย่างไรก็ตาม โรงเรียนมีรายจ่ายประจำอยู่ ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หรือหาแหล่งเงินอื่นๆ มาจ่ายเพื่อรักษาสภาพคล่อง หากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โรงเรียนอาจไปต่อไม่รอด ค่าใช้จ่ายของโรงเรียนติดลบทุกเดือน เดือนละหลายล้านบาท ดังนั้น ถ้าโรงเรียนไหนสายป่านไม่ยาว ก็ไปไม่รอด ทั้งนี้ รัฐควรเพิ่มงบเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนด้วย เชื่อว่านางกนกวรรณ และเลขาธิการ กช.รับทราบปัญหาแล้ว จะไม่นิ่งนอนใจ และหาทางช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนแน่นอน” ดร.เจต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image