เปิดใจ “ดร.เจต” เสียงจาก ร.ร.เก่า “ลิซ่า BLACKPINK” วอนรัฐช่วย “ร.ร.เอกชน”

เปิดใจ “ดร.เจต” เสียงจาก ร.ร.เก่า “ลิซ่า BLACKPINK” วอนรัฐช่วย “ร.ร.เอกชน”

กลายเป็นเรื่องสะเทือนแวดวงโรงเรียนเอกชน หลังจาก “โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี” ประกาศ “เลิกกิจการ” ในวันที่ 30 เมษายน 2565 หรือสิ้นปีการศึกษา 2564 ภายหลังคณะกรรมการบริหารโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรีมีมติเนื่องจากโรงเรียนประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยาวนาน ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่องอย่างหนัก แม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิอำนวยศิลป์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ทางโรงเรียนประกาศคืนเงินค่าแรกเข้า และเงินบริจาคที่มอบให้มูลนิธิอำนวยศิลป์ จิตร-เอิบ ทังสุบุตร ให้กับผู้ปกครอง หักจากค่าเทอมภาคเรียนที่ 2/2564 ทำให้เกิดคำถามว่า โรงเรียนเอกชนอย่างโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรียังแบกภาระค่าใช้จ่าย และต่อสู้กับภาวะขาดทุนไม่ไหว แล้วโรงเรียน เอกชนอื่นๆ จะฟันฝ่าวิกฤตเหล่านี้ไปได้หรือไม่

ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนที่มีศิษย์เก่าเป็นคนดังระดับโลก “ดร.เจต ประภามนตรีพงศ์” ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนในเครือประภามนตรี เปิดใจเล่าว่า ในฐานะทำการศึกษาเอกชนมากว่า 38 ปีแล้ว ทำด้วยใจรัก เพราะรู้สึกว่าเราได้ช่วยเหลือคน ได้บุญ และรู้สึกอิ่มเอิบใจไปด้วย ประกอบกับ ดร.เขมสิริ ประภามนตรีพงศ์ ภรรยา จบด้านครุศาสตร์มาโรงเรียนในเครือประภามนตรี เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 6 มองว่าการศึกษาเอกชนมีส่วนช่วยภาครัฐอย่างมาก ถ้าทำงานด้วยใจรัก มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ จริงใจ จะทำให้โรงเรียนเดินหน้าต่อไปได้แน่นอน แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่โรงเรียนเผชิญมาไม่ใช่แค่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เท่านั้นที่ทำให้โรงเรียนประสบปัญหา ก่อนหน้านี้ประมาณ 5-10 ปี ก็เจอปัญหาอัตราการเกิดของประชาชนลดลง ขณะที่จำนวนโรงเรียนเท่าเดิม ประกอบกับโรงเรียนภาครัฐขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ดร.เจตกล่าวว่า โรงเรียนเอกชนไม่ใช่แค่แบ่งเบาภาระของภาครัฐเท่านั้น ยังแบ่งเบาเรื่องงบประมาณมาก จากข้อมูลประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนมีนักเรียนมากกว่า 2 ล้านคน มีครูมากกว่า 1 แสนคน คาดว่าช่วงนั้นโรงเรียนเอกชนช่วยรัฐแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเกือบ 10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันคาดว่าโรงเรียนเอกชนช่วยรัฐแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครคำนึงถึง หลายคนมองว่าโรงเรียนเอกชนคือธุรกิจ เพราะเรียกเก็บค่าเทอม จะช่วยเหลือรัฐจริงหรือ อยากวิงวอนภาครัฐ โดยเฉพาะผู้นำประเทศ คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะนับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดในปี 2563 จนถึงปี 2564 ภาครัฐไม่ได้ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน ผู้ปกครองได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าเทอมได้ แต่โรงเรียนยังมีรายจ่ายประจำอยู่ โรงเรียนเอกชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้มากว่า 2 ปี จนหลายแห่งกำลังประสบปัญหา ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้

Advertisement

“เหมือนกับว่าโรงเรียนเอกชนถูกเมินเฉย ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ หากโรงเรียนเอกชนล้มกันหมด ภาระต่างๆ จะตกไปอยู่โรงเรียนรัฐ งบต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น ครูกว่า 1 แสนคน อาจถูกลอยแพจนกว่าจะไปสอบครูผู้ช่วยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ เมื่อโรงเรียนเอกชนไปไม่ไหว ไปไม่รอด โรงเรียนเหล่านี้ต้องถอย” ดร.เจตกล่าว

อีกสาเหตุหนึ่งที่โรงเรียนต้องถอย หรือเลิกกิจการ ดร.เจตมองว่า มาจากปัญหาผู้สืบทอดอาจคิดต่างออกไป คิดว่าขายที่ เอาเงินมาแบ่งกันดีกว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนประกาศขายกิจการจำนวนมาก ตนก็อยากจะประกาศขายบ้าง แต่มองว่าไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง เพื่อจะให้โรงเรียนเอกชนอยู่รอดต่อไปได้

ดร.เจตเห็นว่า โรงเรียนเอกชนต้องปรับตัวตามสถานการณ์ เน้นคุณภาพเป็นสำคัญ อย่างโรงเรียนประภามนตรีก็ต้องปรับตัวเช่นกัน คือปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เน้นเรียนข้ามศาสตร์ พร้อมยกระดับการเรียนอาชีวศึกษาให้เป็นระดับอินเตอร์ มีจุดมุ่งเน้นว่าเด็กไทยเราไม่ทิ้ง เด็กต่างชาติโรงเรียนก็รับสอนทั้งหมด เพราะการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้โรงเรียนกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็ไม่ได้ช่วยเหลือโรงเรียนมากนัก เพราะโรงเรียนต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ดี

Advertisement

“ส่วนธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ให้โรงเรียนเอกชนเนื่องจากกังวลว่าหากธนาคารยึดทรัพย์ ยึดที่ดินของโรงเรียนเอกชนแล้ว สังคมอาจจะตราหน้า หรือโจมตีธนาคารได้ ดังนั้น โรงเรียนเอกชนจึงไม่มีที่พึ่งด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือให้โรงเรียนรักษาสภาพคล่องได้เลย”

ดร.เจตกล่าว ดร.เจตเล่าถึงปัญหาที่โรงเรียนเอกชนต้องประสบพบเจอว่า โรงเรียนเอกชนหลายแห่งจะพบปัญหาผู้ปกครองไม่ยอมจ่ายค่าเทอมบ้าง แต่โรงเรียนของตนไม่พบปัญหาเช่นนั้น โชคดีผู้ปกครองเข้าใจ จ่ายค่าเทอมให้โรงเรียนบ้าง บางส่วนมาขอแบ่งจ่าย อย่างไรก็ตาม โรงเรียนมีรายจ่ายประจำอยู่ ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หรือหาแหล่งเงินอื่นๆ มาจ่ายเพื่อรักษาสภาพคล่อง หากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โรงเรียนอาจไปต่อไม่รอด ค่าใช้จ่ายของโรงเรียนติดลบทุกเดือน เดือนละหลายล้านบาท ดังนั้น ถ้าโรงเรียนไหนสายป่านไม่ยาวก็ไปไม่รอด รัฐควรจะเพิ่มงบเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนด้วย เชื่อว่า นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) รับทราบปัญหาแล้ว เชื่อว่าไม่นิ่งนอนใจ หาทางช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนแน่นอน

สำหรับเครือโรงเรียนประภามนตรี มีนักร้องสายเลือดไทยดังไกลระดับโลก อย่าง “ลิซ่า BLACKPINK” หรือ “ลลิษา มโนบาล” วงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของเกาหลี เป็นศิษยเก่า ดร.เจตเล่าว่า สื่อต่างๆ รายงานว่าลิซ่าเคยศึกษาที่โรงเรียนประภามนตรีตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ชั้น ป.6 ที่โรงเรียนประภามนตรี (บางนา) เรียนต่อในชั้น ม.1-2 ที่โรงเรียนประภามนตรี 2 จ.สมุทรปราการ

“ตอนลิซ่าเรียน ม.2 เทอม 1 ก็ได้รับการคัดเลือกจากบริษัท YG Entertainment ทางลิซ่าก็มาลาผม มากราบ ผมจำได้ว่ายังเขกหัวลิซ่าและบอกว่า ขอให้โชคดี ขอให้ระวังตัว เพราะเป็นเด็กผู้หญิงต้องระวัง ฝากคุณแม่ให้ดูแลด้วย แต่ผมเชื่อว่าลิซ่าไปรอดแน่นอน เพราะลิซ่าเป็นเด็กร่าเริง ยิ้มแย้ม แจ่มใส ชอบทำกิจกรรม มีงานที่ไหนลิซ่าพร้อมไปด้วยเสมอ ไม่เสียการเรียน และเป็นเด็กหัวไว”

ดร.เจตกล่าว ดร.เจตเล่าด้วยว่า จำได้ว่าทางโรงเรียนเคยพาลิซ่าไปเต้นที่งานหนึ่งที่เมืองทองธานี ต่อหน้านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นอกจากนี้ โรงเรียนเคยพาลิซ่าไปรำเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในงานวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ด้วย ทางโรงเรียนยังเก็บภาพเหล่านี้ไว้อยู่ อย่างไรก็ตาม หากจะนำภาพลิซ่ามาเผยแพร่ทางโรงเรียนจะโทรขออนุญาตผู้ปกครองก่อน ไม่ฉวยโอกาสเพื่อสร้างกระแส

“จะเห็นว่าโรงเรียนสนับสนุนเด็กทุกคน ไม่ว่าเด็กสนใจทำกิจกรรมด้านไหน โรงเรียนพร้อมจะสนับสนุน ปัจจุบันโรงเรียนประภามนตรี 2 เปิดหลักสูตรบันดาลใจ สาขาวิชาแห่งอนาคต เป็นมิติใหม่แห่งการเรียนรู้ เป็นการสอนแบบบูรณาการ สร้างให้เด็กรู้จักตนเองเร็วขึ้น” ดร.เจตกล่าว

พร้อมกับทิ้งท้ายว่า โรงเรียนประภามนตรีเป็นโรงเรียนคุณธรรม คิดถึงประโยชน์ของนักเรียน นักศึกษา และในสถานการณ์ขณะนี้โรงเรียนพยายามสร้างคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองและนักเรียน เพราะเชื่อว่าโรงเรียนเอกชนจะอยู่รอดได้ต้องมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพทางการบริหาร และคุณภาพทางวิชาการ เพราะถ้าโรงเรียนมีสิ่งเหล่านี้ โรงเรียนสามารถไปรอดได้ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image