กลุ่มค้านทางเลียบจี้ “คณะโบราณคดี” ถอนตัวโครงการ “เจ้าพระยา” คณบดี เผยขอหารือทีมงานก่อน ยันรับฟังทุกฝ่าย

ผศ.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

สืบเนื่องกรณี ผศ.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวในงานเสวนา “ผู้คน ชุมชน เจ้าพระยา ข้อมูลและมุมมองทางวัฒนธรรม” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ความตอนหนึ่งว่า การที่คณะโบราณคดีเข้าร่วมโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมองเห็นจุดอ่อนว่าขาดข้อมูลด้านโบราณคดี และมานุษยวิทยา แต่หากข้อมูลที่ทางคณะฯได้จากการศึกษา ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ แต่เป็นการศึกษาบังหน้า จะแถลงข่าวขอถอนตัวทันทีนั้น (อ่านข่าว คณบดีโบราณคดีพ้อ ถูกโจมตีเหตุร่วม “สจล.” โครงการเจ้าพระยา ยันถอนตัวทันที หากแค่ถูกใช้ “บังหน้า”)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย. กลุ่ม FRIENDS OF THE RIVER ได้เผยแพร่ข้อความที่ระบุว่าเขียนถึง คณบดีคณะโบราณคดี เนื้อหาโดยสรุป กล่าวถึงโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่าไม่ได้มีการนำข้อมูลด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีมาใช้ด้วยความเคารพในหลักวิชา ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนเก่ายุคต้นรัตนโกสินทร์วัดฉัตรแก้วจงกลณี ซึ่งโครงการเสนอให้มีทางเลียบแม่น้ำกว้าง 10 เมตรผ่านหน้าชุมชน ดังนั้น เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งเจตนารมณ์และหลักการของการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงขอให้คณบดีพิจารณาลาออกจากโครงการฯ

เนื้อหามีดังนี้

เรียนท่านคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

Advertisement

จากการเฝ้าติดตามการดำเนินงานของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วง7 เดือนที่ผ่านมา โดยมีทีมงานของคณะโบราณคดีเข้าร่วมการศึกษาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล) ด้วยนั้น ทางเราพบว่าข้อเสนอสุดท้ายของการศึกษาที่เปิดเผยเมื่องานรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายในวันที่9 ก.ย.59 ได้ปรากฏว่าข้อมูลทางโบราณคดี ที่ระบุคุณค่าเดิมของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำที่มีประวัติความเป็นมาและมรดกวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาเพื่อให้เกิด”ทางเลือกของการพัฒนา”ที่สอดคล้องกับคุณค่าเดิมในแต่ละพื้นที่นั้นๆ กลับมุ่งเน้นทำทางเลียบแม่น้ำราวกับว่า”มีธง” การศึกษาทางโบราณคดีที่ทางคณะได้ร่วมทำจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือให้สังคมเข้าใจว่า โครงการได้คำนึงคิดวิเคราะห์รอบด้านอย่างเข้าใจแล้ว ซึ่งหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะท้ายที่สุดข้อมูลดังกล่าว”ไม่ได้ถูกนำมาใช้”อย่างเข้าใจและด้วยความเคารพในหลักวิชา

ดังปรากฏหลักฐานที่ ชุมชน”วัดฉัตรแก้วจงกลณี” ที่มีประวัติยาวนานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีวิถีการแปรรูปซุงที่ล่องมาตามลำน้ำเจ้าพระยา มีชุมชนริมน้ำที่ยึดโยงกับวัด

แต่ปรากฏว่าโครงการได้เสนอให้มีทางเลียบแม่น้ำความกว้าง10 เมตร”พาดผ่านหน้าชุมชน” ซึ่งเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของชุมวิถีนำ้ที่มีมาในอดีต ทางโครงการไม่ได้มีการบอกกล่าวถึงทางเลือกของการพัฒนาอื่นที่เคารพกับคุณค่าเดิมในพื้นที่ ให้ชุมชนและสังคมได้พิจารณาเลย โครงการใช้วิธีฟื้นฟูชุมชนควบคู่ไปกับการทำทางเลียบแม่น้ำซึ่งเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งในตัวมันเอง

Advertisement

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นการทำลายแม่น้ำโดยใช้สถาบันการศึกษา วิชาชีพและประชาชนเป็นใบเบิกทาง

เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งเจตนารมณ์และหลักการของการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงขอให้ท่านคณบดีพิจารณาลาออกจากการเข้าร่วมโครงการครับ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาครับ

ด้าน ผศ. ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี กล่าวว่า ทางคณะโบราณคดี เพิ่งเข้าร่วมศึกษาพียง 2 เดือนเท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งมอบให้ทางโครงการฯ และขอชี้แจงว่า คณะทำงานได้เข้าไปศึกษาหลังแบบถูกคิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งตอนเข้าร่วมโครงนั้น ตนมีเจตนารมณ์ว่าจะสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของโครงการฯ ได้ และคาดหวังว่าข้อมูลจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม การจะถอนตัวหรือไม่ อย่างไร นั้น ต้องขอประชุมหารือคณะทำงานก่อน และขอยืนยันว่าตนพร้อมรับฟังทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสจล. หรือกลุ่ม FRIENDS OF THE RIVER และที่สำคัญคือคณะทำงานของคณะโบราณคดี

นางสาวศศิธร ศิลป์วุฒยา อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี ซึ่งลงพื้นที่ศึกษาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ทางคณะโบราณคดีเคยส่งรายงานข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชุมชนไปแล้วครั้งหนึ่ง สำหรับรายงานชุดต่อไปซึ่งคาดว่าจะส่งให้ทางโครงการฯ ไม่เกินเดือนตุลาคมนี้ จะเป็นข้อมูลเชิงลึก ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้ไข โดยจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (28 ก.ย.)

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image