‘ตรีนุช’ ลงพื้นที่ชาวเล จี้อาชีวะต่อยอดอาชีพเดิมชุมชนเพิ่มรายได้ 

‘ตรีนุช’ ลงพื้นที่ชาวเล จี้อาชีวะต่อยอดอาชีพเดิมชุมชนเพิ่มรายได้ 

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่จังหวัดกระบี่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินทางไปที่หมู่บ้านชาวเลบ้านโต๊ะบาหลิว ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เยี่ยมชมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it center) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดย น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า กิจกรรมวันนี้ เป็นหนึ่งในโครงการ Fix it center ที่ได้มีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น ช่างอาชีวะ (ช่างพันธุ์Rอาชีวะ ซ่อมทั่วไทย) แบบถาวร ในการช่วยอำนวยความสะดวกการให้บริการประชาชนมากขึ้น โดยพื้นที่นี้เป็นชุมชนชาวเล พื้นที่พิเศษ ห่างไกล ซึ่ง ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้เน้นให้นำทีม Fix it ลงมาแบ่งเบาภาระซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าวของเครื่องใช้ประจำบ้านของประชาชน รวมถึงสอนและแนะนำประชาชนให้สามารถซ่อมสร้างด้วยตัวเองได้ด้วย

“จากที่ได้ดูและพูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้เกิดความคิดว่า พื้นที่นี้จะต้องเน้นเรื่องการศึกษาที่เป็นการต่อยอดอาชีพเดิมของชุมชนให้มีรายได้มากขึ้น รวมถึงสอนเรื่องการสร้างอาชีพให้เด็กในพื้นที่ด้วย เช่น การแปรรูปอาหาร พัฒนาการบรรจุหีบห่อ แพคเพจจิ้ง และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น” รมว.ศึกษาธิการกล่าว

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า การให้บริการครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่บริการในพื้นที่ชาวเลชุมชน บ้านโต๊ะบาหลิว ซึ่งมีครัวเรือนอาศัยอยู่ในพื้นที่ ประมาณ 50 ครัวเรือน สำหรับกิจกรรมการให้บริการ เป็นกิจกรรมบริการซ่อมเครื่องมือเครื่องจักรกลเรือประมง ยานพาหนะรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เปลี่ยนหลอดไฟฟ้าภายในบ้าน

นอกจากนี้ ยังให้บริการจัดสอนวิชาชีพระยะสั้น เช่น ทำกระทงทอง ข้าวไข่เจียว อาหารจานเดียวสามารถปรับปรุงตามใจความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างรายได้ เช่น ไข่เจียวรสต้มยำ ไข่เจียวพริกแกง เป็นต้น การสอนการทำปลั๊กพ่วงไฟ การทำผลิตภัณฑ์ขัดผิวจากกาแฟ การตัดผม การออกแบบบรรจุภัณฑ์สติ๊กเกอร์สินค้า พร้อมกันนี้ไดจัดมอบกล่องกำลังใจ จำนวน 50 ชุด พร้อมต้นกล้าฟ้าทะลายโจรให้กับชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยในสังกัด สอศ.จังหวัดกระบี่ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่  วิทยาลัยสารพัดช่างกระบี่ วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ และวิทยาลัยการอาชีพคลองท่อม

Advertisement

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า การจัดการอาชีวศึกษาในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง บริบทของพื้นที่จะเน้นการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น การจัดการอาชีวศึกษาก็จะเน้นในเรื่องการจัดสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการโรงแรมเป็นหลัก ประกอบด้วย สาขาการโรงแรม อาหาร การท่องเที่ยว รวมถึงช่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น การซ่อมเครื่องยนต์เรือยอชต์ เป็นต้น ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่ขับเรือยอชต์เข้ามาจอด และใช้บริการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ สำหรับเรื่องของการท่องเที่ยวและการโรงแรม ถือว่าเป็นสาขาหลักในพื้นที่ฝั่งอันดามัน เพราะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะต้องใช้บริการด้านที่พัก การนำเที่ยว และยังมีอาหารที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ อาชีพการทำสปาที่เป็นเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวต้องการเข้ามาใช้บริการสปาของเมืองไทย ดังนั้น วิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในแถบนี้จะมีหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ของพื้นที่เป็นหลัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image