สัมภาษณ์พิเศษ : เปิดใจ ‘อรรถพล สังขวาสี’ ลุยงาน ‘สกศ.’ สร้างเข็มทิศการศึกษา

เปิดใจ ‘อรรถพล สังขวาสี’ ลุยงาน ‘สกศ.’ สร้างเข็มทิศการศึกษา

หมายเหตุนายอรรถพล สังขวาสี เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) แทน นายอำนาจ วิชยานุวัติ อดีตเลขาธิการ สกศ.ที่เกษียณอายุราชการ โดยการเข้ารับตำแหน่งครั้งนี้ เป็นที่จับตาของคนในแวดวงการศึกษา เพราะนายอรรถพลถือเป็นลูกหม้ออาชีวะ ที่รับตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้ไม่ถึงปี ก็ได้รับความไว้วางใจให้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ สกศ. “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจแนวทางการทำงานพัฒนาการศึกษายุคใหม่

⦁น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ฝากให้ขับเคลื่อนงานใดบ้าง?

“น.ส.ตรีนุช มอบหมายให้งานสำคัญหลายอย่าง เช่น ผลักดันกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เน้นส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีมาตรฐานสมรรถนะในวิชาชีพและมีรายได้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะมีการกำหนดอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิ แต่ไม่ได้บ่งบอกเรื่องสมรรถนะในการทำงาน สกศ.ผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังต้องทำเข้าความเข้าใจ รวมถึงทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมจัดหางาน

ขณะเดียวกันต้องเร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ดังนั้น สกศ.จะรวบรวมข้อมูลที่มีการอภิปรายในการประชุมรัฐสภา มาจัดทำเป็นแนวทางรองรับการปฏิรูปการศึกษาในอนาคต พร้อมส่งเสริมวิชาชีพทุกช่วงชั้นให้เหมาะสมกับวัย สอดคล้องกับนโยบายของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ที่มอบหมายให้ขับเคลื่อนเรื่องโค้ดดิ้ง เพื่อสร้างให้เด็กมีทักษะในอนาคต พร้อมกับให้ สกศ.บูรณาการจัดศึกษา ศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม การกีฬา เข้าสู่ระบบการศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการบูรณาการเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน”

Advertisement

“ผมได้หารือกับ น.ส.ตรีนุช และคุณหญิงกัลยา ถึงแนวทางการทำงาน ซึ่งทั้งสองเห็นตรงกันว่าให้ สกศ.ยึดเป้าหมายพัฒนาคนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะเดียวกัน ผมได้นำงานวิจัยที่ สกศ. และนำงานวิจัย World Economic Forum ที่จัดทำรายงาน The Future of Jobs ว่าด้วยเรื่องแนวโน้มและทิศทางของอาชีพในอนาคต ตลอดจนทักษะการทำงานที่จำเป็นภายในอนาคตอันใกล้ 2025 ซึ่งจะมี 10 อาชีพที่กำลังจะหายไป และมี 10 อาชีพเกิดใหม่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19ซึ่งอาชีพที่เกิดใหม่จะเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น งานเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ผู้ดูแลระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น ดังนั้น เรา สกศ.ควรกำหนดเป้าหมายเพิ่มเติม เพื่อสร้างคนรองรับปี 2025”

⦁เหมือนเป็นการสร้างเข็มทิศการศึกษา?

“ใช่ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ย้ำว่า สกศ.จะต้องเป็นเข็มทิศการศึกษา ซึ่งจะเริ่มดำเนินการโดยอิงฐานจากงานวิจัยของ World Economic Forum เพื่อสร้างพิมพ์เขียวในการสร้างคนรองรับปี 2025 อย่างไรก็ตาม จะยึดการพัฒนาคนตามงานวิจัยอย่างเดียวไม่ได้ สกศ.จะเดินสายรับฟังความคิดเห็นจากเสาหลักเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ เช่น สมาคมธนาคารไทย สมาคมการท่องเที่ยว หอการค้าในและต่างประเทศ อุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น วางแผนไว้ว่าจะเริ่มต้นเดินหน้ารับความคิดเห็นจากเสาหลักเศรษฐกิจไทย และจะสร้างเป็นเข็มทิศการศึกษาให้เสร็จก่อนต้นปี 2565 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และ สอศ. สร้าง Skill Mapping ให้นักเรียนประกอบการตัดสินใจว่าเลือกอาชีพในอนาคต ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถนำไปปรับหลักสูตร หรือเพิ่มหลักสูตรใหม่ๆ สอนผู้เรียนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานได้

Advertisement

แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่กลุ่มเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาเท่านั้น รวมถึงคนที่ทำงานแต่อยู่นอกระบบการศึกษาด้วย สกศ.ต้องหาวิธีการให้คนเหล่านี้เข้าสู่การศึกษาตลอดชีวิต เพื่อรองรับการเปลี่ยนอาชีพด้วยวิธีที่หลากหลาย โดยจะต้องจัดทำธนาคารหน่วยกิต หรือเครดิตแบงก์ เน้นการเรียนออนไลน์โดยนำวิชาเดิมที่ผู้เรียนเคยเรียนมาแล้ว และผลงานที่เคยทำในอดีตมาเทียบโอน ผ่านผลการปฏิบัติงานจริง และไปเรียนเพิ่มความรู้ในทักษะที่ขาดหาย”

⦁จุดอ่อนของ สกศ.ที่ต้องเร่งแก้ไข?

“เพื่อให้การจัดการศึกษามีความชัดเจน สกศ.ต้องกำหนดเข็มทิศชี้นำการศึกษาไทยให้ชัดเจน ศธ.ได้งบประมาณแต่ละปีหลายแสนล้านบาท ดังนั้น ควรมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ที่สามารถบอกได้ว่างบประมาณที่รัฐให้มาอีก 10 ปีข้างหน้า คนในประเทศจะมีคุณสมบัติ สมรรถนะอย่างไร ส่วนจุดอ่อนคือกระบวนการติดตามผลการทำงานเพราะตามโครงสร้างของ สกศ.นั้น แต่ละหน่วยงานมีอิสระ ทำให้ขาดอำนาจในการติดตามผลงาน ซึ่งผมได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ช่วยสั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหลัก รายงานผลการทำงานให้ สกศ.รับทราบ และสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาเพิ่มเติม

อีกส่วนคือ บุคลากรที่มีจำนวนน้อย หน่วยงานละไม่เกิน 10 คน ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดทางงบประมาณ ส่งผลให้มีคนไม่เพียงพอต่อการพัฒนางานวิจัย ต้องจ้างเหมาให้คนเข้ามาช่วย ขณะที่งานวิจัยต่างๆ ยังขาดการนำไปปฏิบัติ แต่คิดว่าจากนี้จะไม่มีปัญหา เพราะผมโชคดีมีเพื่อนเยอะ ทั้งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นเพื่อนผม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นพี่ผม ผมจึงจะใช้ความเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ขอร้องพูดคุยเพื่อทำงานร่วมกัน”

คิดว่ายุคโควิด-19 จำเป็นต้องมีการปรับหลักสูตรหรือไม่?

“รัฐมนตรีว่าการ ศธ.อยากให้ทุกคนมีทักษะอาชีพที่เหมาะกับช่วงวัย ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงต้องมีเรื่องวิชาชีพที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมการเรียนรู้ รวมถึงใช้ในการทดสอบสมรรถนะเพื่อให้รู้ว่า แต่ละคนมีทักษะเรื่องใด เมื่อมีข้อมูลเด็กและผู้ปกครองก็สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเส้นทางอนาคตได้ ทั้งหมดนี้จะกลายเป็น Skill Mapping ของนักเรียน ซึ่งครูจะเป็นส่วนสำคัญ ขณะเดียวกัน ยังต้องเร่งสร้างความเข้าใจ การเรียนในแต่ละเส้นทางด้วยว่าเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเด็กต้องการเรียนอาชีวะ มีสาขาใดบ้างที่เหมาะสมกับสมรรถนะแต่ละคน ตรงนี้ต้องฉายภาพให้เด็กและผู้ปกครองเห็นให้ชัดเจน เหมือนเป็นเข็มทิศการศึกษาช่วยผู้เรียนกำหนดเป้าหมาย”

๐ การศึกษาหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนไปอย่างไร ?
“แน่นอนว่าการศึกษาหลังวิกฤตโควิด-19 จะต้องเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จะเห็นว่าการเรียนออนไลน์ หรือการเรียนทางไกล มีอยู่ในการศึกษาไทยมาหลายปีแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีแนวคิดอยากให้ ศธ.ทำแพลตฟอร์ม ซึ่งผมคิดว่าเราควรทำแพลตฟอร์มข้อมูลคนที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจาก ศธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าบุคคลที่ประเทศต้องการ บุคคลที่มีทักษะทั้งประเทศมีกี่คน อยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จัดทำแพลตฟร์อมร่วมกันต่อไป และควรจะมีแพลตฟร์อมด้านการศึกษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเน้นการนำแพลตฟร์อม มาเติมเต็มประสิทธิภาพของครู ให้ครูมีคุณภาพมากขึ้น ผมเชื่อว่าหากเราทำแพลตฟร์อมกลางที่เป็นมาตรฐานทางการศึกษาได้ เราจะพร้อมปรับตัวรับการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

๐ การทำ Skill Mapping ของนักเรียน จะเริ่มให้นักเรียนทำตั้งแต่ช่วงชั้นใด?
“ผมหารือกับนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.เห็นตรงกันว่าต้องเติมทักษะอาชีพให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละช่วงวัย โดยให้เด็กได้เริ่มทำกิจกรรมที่หลากหลาย หากนโยบายนี้งไปถึงผู้ปฏิบัติอย่างครู ครูสามารถเขียนทักษะ จุดเด่นของนักเรียนแต่ละคนลงในบันทึกผลการเรียนของนักเรียนได้ และครูจะส่งไม้ต่อบันทึกจุดเด่นทักษะของนักเรียนแต่ละช่วงชั้น เมื่อนักเรียนคนนั้นจะต้องเลือกเส้นทางของตน นักเรียน และผู้ปกครอง จะมีฐานข้อมูลนี้เอามาประกอบการตัดสินใจอยู่ ผมจะเร่งขับเคลื่อนเรื่องนี้ ให้โรงเรียนนำมาใช้ในปีการศึกษา 2565 ทันที ผมมองว่าถ้าเตรียมคนอย่างมีแบบแผน จะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณของ ศธ.มีความคุ้มค่า”

๐ อยู่ สอศ.มาก่อนเป็นข้อดี เพราะสามารถนำความรู้ด้านอาชีพมาปรับใช้ และวางนโยบายพัฒนาการศึกษากับ สกศ.ได้?
“ถูกส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือวิธีการสื่อสาร เพราะ สกศ.มีนักวิชาการ เมื่อให้ข้อมูลไปเผยแพร่ ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจ แต่ข้อดีที่ผมเคยอยู่ สอศ.มา จะนำความรู้ที่ได้มาประมวลผลมาเป็นภาษาชาวบ้าน สร้างความเข้าใจให้ประชาชน ต้องสื่อสารโดยภาษาง่ายๆ โดยไม่ผิดเพี้ยน หรือผิดควาหมายจากงานวิจัยที่ได้ทำ”

๐ มีแผนผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างไร?
“สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นห่วงคือ จะทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติอย่างไร เช่น คำว่าผู้อำนวยการไม่ได้หายไป ไม่มีคำว่าครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ โครงสร้างของ ศธ.ต่อไปจะเป็นอย่างไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ สกศ.จะไปทำความเข้าใจด้วย นอกจากนี้ จะต้องดูแลการศึกษาไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ผมจะตั้งวอร์รูม และตั้งทีมเพื่อดูรายละเอียดแต่ละเรื่อง เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์ ตอบคำถามของสภาผู้แทนราษฎรแต่ละด้านได้ ซึ่งขณะนี้เตรียมตั้งทีมมากกว่า 10 ชุด ไว้แล้ว และเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับทราบต่อไป”

๐ งานที่วางแผนไว้ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาแบบหนึ่ง?
“ใช่ครับ ถือเป็นเชิงปฏิบัติในการปฏิรูปการศึกษา ผมอยากให้รัฐบาลเห็นเป้าที่ชัดเจน เห็นเข็มทิศการศึกษาว่าในปี 2025 ประเทศจะเปลี่ยนอย่างไร ความต้องการคนเป็นอย่างไร ถ้าประเทศมีแพลตฟอร์ม ผู้เรียน และฐานข้อมูลแบบ Big Data จะสามารถให้ความมั่นใจกับรัฐบาล และนักลงทุนได้ว่า ในประเทศเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง มีมาตรฐาน มีสมรรถนะ ซึ่งการจะสร้างมาตรฐานให้กับคนในประเทศ การศึกษาต้องเปลี่ยน คือต้องจัดการศึกษาตามบริบทความต้องการของแต่ละพื้นที่ จะมาตัดเสื้อโหลแล้วจัดการศึกษาแบบเดิมอีกไม่ได้แล้ว”

๐ ทราบมาก่อนล่วงหน้าหรือไม่ ว่าจะได้รับตำแหน่งเลขาธิการ สกศ.?
“ไม่เลย ผมไม่คิดว่าผมจะได้มาทำงานตรงนี้ เพราะคิดว่าคงได้ทำงานที่บ้านเรา ทำงานเกี่ยวกับอาชีวะที่เราถนัด ท้ายสุดรัฐมนตรีว่าการ ศธ.บอกผมว่าให้มาทำงานที่ สกศ.ตอนแรกก็ตกใจ กลัวจะทำงานไม่ได้ แต่อาศัยทักษะชีวิต เพราะชีวิตของผมที่เติบโตมา พบการเปลี่ยนแปลงตลอด เป็นช่าง จบวิศวกรรม แต่เคยได้ทำงานในกรมพลศึกษา ดูแลงานลูกเสือโลก หรือช่วงหนึ่งในชีวิต ได้ไปทำงานเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจราชการ ศธ.ก็พบกับงานอีกแบบ พอได้มาเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ของ สอศ.ต้องมาดูแลงานวิจัย เรื่องนวัตกรรม ต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ ต้องเป็นผู้ประสานขอความร่วมมือกับภาคเอกชนต่างๆ

งานที่ผมได้รับแต่ละอย่าง ทำให้ใช้เวลาปรับตัวไม่นาน เรียกได้ว่าชีวิตของผมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องปรับตัวอยู่เสมอ และผมมีความมุ่งมั่นในการทำงาน หลายคนเคยบอกผมว่า ผมเป็นผู้บริหารสายชิล ที่ติดดิน เดินรับฟังปัญหา เข้าหาลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชาก่อน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา รับฟังปัญหา และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กัน

สิ่งสำคัญในชีวิตราชการ ตั้งแต่ที่ผมเป็นผู้บริหารมา คือผมเป็นคนที่ไม่ใช้อำนาจ ผู้ใหญ่สอนผมมาว่า อำนาจยิ่งใช้ยิ่งหมด ผมจึงใช้ความเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องในการทำงาน”

๐ หนักใจ และเครียดหรือไม่?
“ผมเป็นคนไม่เครียด และโชคดีที่ผู้บังคับบัญชาเข้าใจ รับฟังปัญหา แต่จะกดดัน เพราะเวลาการทำงานมีจำกัด นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อมั่นของภาคประชาชน จะเห็นว่าประเทศมีสภาพัฒน์วางแผนเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเดินตามแผนที่สภาพัฒน์วางไว้ ดังนี้ สกศ.ต้องเป็นผู้นำทิศทางการศึกษาของประเทศ เป็นสิ่งที่กดดันอย่างมาก เพราะ สกศ.ต้องสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยงานอื่นวางแผนขับเคลื่อนการศึกษาต่อไปได้

ส่วนวิธีคลายเครียดของผมนั้น ก็ใช้เวลาว่างออกกำลังกาย เดินบ้าง วิ่งบ้าง ที่สำคัญคือ เป็นคนที่แบ่งเวลา มีเวลาเลิกงานที่ชัดเจน คือถ้าเลิกงานแล้ว จะทิ้งเรื่องงานทันที”

๐ คติในการทำงาน?
“มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ทำงานตามนโยบายของรัฐ และผู้บังคับบัญชา รวมทั้ง ผมยึดหลักกตัญญูในการทำงาน”

๐ หลายคนมองว่าเข้ามารับตำแหน่งเพราะการเมือง?
“ผมไม่มีแบ็คอัพ ไม่มีผู้ใช้ ไม่มีนักการเมืองคอยช่วยเหลือ และไม่เคยใช้เงินเลย ตั้งแต่ที่รับตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษา ผมมาด้วยฝีมือการทำงาน มาด้วยความมุ่งมั่นในการทำงาน
อย่างการโยกย้ายแต่งตั้งรอบนี้ เป็นฤดูกาลปกติ มีซี 11 ว่าง 1 ตำแหน่ง ผมพยายามไปหาคอนเนคชั่น ไปพูดไปคุยกับเพื่อนนักการเมืองบ้าง แต่ก็คิดว่าถึงแม้เราจะไป จะได้ตำแหน่งหรือไม่ เพราะคนแข็งก็มีเยอะ

ท้ายสุดจับพลัดจับผลูได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกศ.แม้แต่ น.ส.ตรีนุช ผมก็ไม่ได้เข้าไปคุย แต่ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เลือกผม เพราะตอนนั้นผมดูเรื่องพัฒนางานให้คนพิการ และดูเรื่องการอาชีวะในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนั้น ขอให้คนที่มองว่าผมรับตำแหน่งเพราะการเมือง ขอให้มาดูการทำงานของผมดีกว่า”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image