กรมศิลป์ขยายนิทรรศการทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้น ถึง 9 ม.ค.

กรมศิลป์ขยายนิทรรศการทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้น ถึง 9 ม.ค.

กรมศิลปากรขยายเวลาจัดแสดงนิทรรศการ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” ถึง 9 มกราคม และนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” ถึง 28 พฤศจิกายน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร

กรมศิลปากร แจ้งว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการปิดบริการแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากรเป็นการชั่วคราวอยู่เป็นระยะ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และขณะนี้ได้กลับมาเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พช.พระนคร จึงขยายเวลาการจัดนิทรรศการพิเศษเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าชมและศึกษาหาความรู้ได้มากยิ่งขึ้น ได้แก่ นิทรรศการพิเศษ เรื่อง “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดพิธีรับมอบทับหลังทั้ง 2 รายการ พร้อมทั้งนำมาจัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ขยายเวลาจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 9 มกราคม 2565 โดยนิทรรศการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หลักฐานต่างๆ ที่ได้สืบค้น รวมถึง ขั้นตอนการดำเนินงานในการติดตาม เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงขั้นตอน และวิธีการกว่าจะได้มาซึ่งโบราณวัตถุ โดยความพยายาม และความร่วมมือจากหลายฝ่าย กระตุ้นจิตสำนึกรัก และหวงแหนมรดกวัฒนธรรมของไทยและร่วมกันปกป้องดูแลรักษาให้สืบทอดต่อไป

Advertisement

นิทรรศการพิเศษ เรื่อง “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” นำเสนอความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยคัดเลือกโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นที่มาของวิวัฒนาการทางอารยธรรม เน้นอิทธิพลของศิลปะลพบุรี ที่ส่งผลต่อบ้านเมืองบนแผ่นดินไทย และยังคงมีอิทธิพลต่อมา โดยเฉพาะศิลปะอยุธยา ตกทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่นำมาจัดแสดง เช่น ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปรางค์กู่สวนแตง จ.บุรีรัมย์ จารึกลานทองวัดส่องคบ 1 ซึ่งแสดงถึงธรรมเนียมการจารึกบนแผ่นโลหะมีค่า ประติมากรรมหน้ายักษ์ หรืออสูร ภาชนะดินเผารูปสัตว์ สิงห์สำริด

นอกจากนี้ ยังมีการคืนชีวิตให้กับประติมากรรม โดยนำชิ้นส่วนประติมากรรมพระโพธิสัตว์สำริดจากบ้านโตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา มาประกอบ และติดตั้งบนหุ่นจำลองขนาดเท่าจริงตามรูปแบบการสันนิษฐาน และการบูรณาการทางด้านวิชาการระหว่างนักวิชาการหลายแขนง ทั้งภัณฑารักษ์ นักวิทยาศาสตร์ นายช่างศิลปกรรม และนักวิชาการช่างศิลป์ เป็นการจัดแสดงและนำเสนอความรู้เรื่องราวของโบราณวัตถุในอีกมิติหนึ่ง ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน พช.พระนคร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image