แฉเด็กหลุดระบบศึกษา 4.3 หมื่น ‘อนุบาล-ม.ปลาย’ เข้าข่ายเสี่ยงอีก 7 แสนราย

แฉเด็กหลุดระบบศึกษา 4.3 หมื่น ‘อนุบาล-ม.ปลาย’ เข้าข่ายเสี่ยงอีก 7 แสนราย จี้ ศธ.ช่วยด่วน-หวั่นตกหล่นเพิ่ม 5.6 หมื่น ปี’65

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า กรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สถานศึกษาเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ถือเป็นเรื่องดี แต่อย่าลืมปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี เช่น ปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จะจัดการปัญหาความถดถอยของคุณภาพการศึกษาอย่างไร จะจัดระบบช่วยเหลือเด็กอย่างไร เป็นต้น โดยเฉพาะปัญหาเด็กออกจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ และซับซ้อน ขณะนี้จำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากขึ้นผิดปกติ จากที่ได้ทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า อัตราการเคลื่อนตัวของเด็กในประเทศเกือบ 1.8 ล้านคน จากเด็กทั้งหมด 5 ล้านคน มีโอกาสเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา เมื่อดูจากเส้นแบ่งความยากจนที่ตัดในระดับรายได้ 2,700 บาท/คน/เดือน มีจำนวนเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ทำให้เห็นว่ามีคนจนเฉียบพลันเพิ่มมากขึ้นถึง 11%

“จากข้อมูลเด็ก 1.8 ล้านคน ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาประมาณ 1.1 ล้านคนแล้ว เพราะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เหลืออีกประมาณ 7 แสนคน ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งเด็กเหล่านี้เด็กยากจน มีรายได้ประมาณ 1,000 บาท/คน/เดือน และยังไม่มีหน่วยงานใดช่วยเหลือ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการสำรวจโดย กสศ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า ขณะนี้มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 57,000 คน ยังดีที่มีการสำรวจ และการช่วยเหลืออย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ตามเด็กกลับมาได้บางส่วน เหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจริงๆ อยู่ 43,060 คน ในจำนวนนี้พบว่าเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อ มีรายละเอียดดังนี้ จากระดับอนุบาลขึ้นชั้น ป.1 เด็กหลุดจากระบบ 4% ส่วนระดับชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 หลุดจากระบบ 19% ส่วนชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 หลุดจากระบบ 48%

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า ส่วนระดับมหาวิทยาลัยจะเกิดปรากฎการณ์คือ จากเด็ก 650,000 คนทั่วประเทศ เข้ามหาวิทยาลัยได้ประมาณ 300,000 คนเท่านั้น และเมื่อคิดเป็นภาพรวมทั้งประเทศ พบเด็กหลุดจากระบบการศึกษา 14% จะเห็นว่ายิ่งระดับสูงขึ้นเท่าใด เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นเท่านั้น

Advertisement

“ตัวเลขเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริง เพราะผ่านการรวบรวมข้อมูล และวิจัยมาแล้ว ดังนั้น ถ้าไม่ทำอะไรเลย ภายในสิ้นปี 2565 จะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จาก 43,000 คน เพิ่มเป็น 56,000 คน ถ้าเปิดเทอม ศธ.และโรงเรียนไม่ช่วยกันไปตาม เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เมื่อเปิดเทอม 2/2564 อย่าเพิ่งเร่งจัดการเรียนการสอน ขอให้ดูความพร้อม เยียวยาด้านจิตใจของเด็กก่อน ถ้าครู ชุมชน ท้องถิ่น ช่วยตามเด็กอย่างจริงจัง จำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาจะลดเหลือไม่ถึง 20,000 คน” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา คือ 1.จำนวนเด็กดรอปเพิ่มขึ้นรุนแรง เพราะสาเหตุมาจากครอบครัวยากจนลง ปัญหาความเครียด ความกดดันด้านเศรษฐกิจ และการเคลื่อนย้ายจากเมืองกลับไปสู่ชนบท เนื่องจากครอบควัรไม่มีงานทำ 2.เด็กระดับมัธยมศึกษาบางส่วนถูกผลักออก เพราะโรงเรียนต้องการเด็กเรียนเก่ง มีความประพฤติดี เด็กที่มีปัญหาเชิงพฤติกรรม เช่น ปัญหาความรุนแรง ปัญหายาเสพติด การตั้งครรภ์ การถูกบูลลี่ เป็นต้น ซึ่งโรงเรียนจะค่อยผลักเด็กเหล่านี้ออก และ 3.ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเห็นว่าปีที่ผ่านมาเด็กเรียน On Line และ On Hand เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเด็กบางคนไม่พร้อมเรื่องเครื่องมือ เช่น อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้เด็กเรียนไม่รู้เรื่อง เข้าไม่ถึง เรียนไม่ทัน ไม่เข้าใจ ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

“ปีนี้สถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษาจะรุนแรง หนักหน่วง และซับซ้อนขึ้น ดังนั้น ระบบการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนใหม่ คือระบบหลักสูตรที่จะต้องไม่เป็นลู่เดียว ระบบแข่งขัน สอบแล้วเข้ามหาวิทยาลัย ต้องปฏิรูประบบหลักสูตรเพื่อให้เด็กค้นพบศักยภาพของตัวเอง ค้นพบเส้นทางตนเองได้ เน้นการเรียนแบบลงมือปฏิบัติ ปรับความคิดเรื่องการเรียนอาชีวะ การเรียนสายอาชีพใหม่ ดังนั้น หลังเปิดเทอม ศธ.ต้องเร่งปรับเปลี่ยนหลักสูตร ทำต้นทางคือโรงเรียนให้ดี เพื่อช่วยให้เด็กค้นพบลู่ทางของตนเองในอนาคตได้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image