บัณฑิตม.เฉลิมกาญจนา โต้ไม่ผิด-ไม่เสียหาย สวมมงกุฎรับปริญญาบัตร ย้ำสร้างความภูมิใจ แนะสืบสานรุ่นต่อไป

จากกรณีสมาชิกเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า คุณ Bulim Natthawoot Nimdee ได้แชร์ภาพบัณฑิตมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาสวมมงกุฎซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในงานรับปริญญา จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ภายหลังมีผู้ชี้แจงว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพในวันซ้อมรับปริญญา โดยสวมเพื่อถ่ายรูปเท่านั้น และล่าสุดนพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ออกมาระบุว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นภาพที่เกิดขึ้นในการซ้อมใหญ่ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ไม่ใช่การรับจริง สกอ.จึงได้ทำหนังสือตักเตือนไปยังมหาวิทยาลัย เพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันยังขัดต่อกฎกระทรวง กําหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษา ที่กำหนดไว้ว่าวันรับปริญญาต้องไม่สวมใส่สิ่งของบนศีรษะ ยกเว้นหมวกรับปริญญา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายวุฒิเดช  ทองพูล มหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ และเป็นประธานสภาวัฒนธรรม อ.วังหิน เปิดเผยว่าในฐานะมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา  มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้สวมมงกุฎ  เพราะว่ามงกุฎที่สวมใส่เป็นโลโก้สัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นเฉลิมกาญจนา  บ่งบอกถึงชัยชนะที่ได้สวมมงกุฎ  เป็นความภาคภูมิใจที่บ่งบอกถึงเกียรติยศ  ศักดิ์ศรีแห่งการได้มาของมงกุฎ เพราะเป็นชัยชนะของมหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา

“การสวมมงกุฎบนศีรษะ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว  เป็นการกระทำที่ถูกต้องของมหาวิทยาลัย ที่ได้นำเอาสัญลักษณ์มงกุฎมาสวมบนศีรษะ  เป็นการบ่งบอกถึงความสำเร็จ  และชัยชนะของมหาบัณฑิตทุกคน การสวมมงกุฎเป็นสิ่งที่ดีงามและควรปฏิบัติสืบต่อไปทุกรุ่นทุกปี ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีการสวมมงกุฎให้กับบัณฑิตและมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาทุกคนเป็นประจำทุกปี  ขณะที่สถาบันอื่นเอาดอกไม้มาสวมบนศีรษะถ่ายรูปก็ยังสามารถทำได้  ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยนำเอามงกุฎมาสวมบนศีรษะให้กับบัณฑิตก็ทำให้พวกเราที่เป็นมหาบัณฑิตมีความภาคภูมิใจและมงกุฎกระดาษก็เป็นของมหาวิทยาลัยแจกให้พวกตนสวมบนศีรษะ  ก็ทำให้ภาคภูมิใจและมีความสุขที่จบการศึกษาระดับมหาบัณฑิต” นายวุฒิเดช กล่าว

ด้านดร.ธนภัทร ส่งเสริม กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ศรีสะเกษ หนึ่งในมหาบัณฑิตที่ได้สวมมงกุฎบนศีรษะ กล่าวว่าตนสำเร็จการศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต  และได้ใช้ใบปริญญาบัตร  ระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา  ไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนตัวเห็นว่าการที่เข้ามาเป็นศิษย์มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา  เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว  มีการสวมมงกุฎบนศีรษะนั้นเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา  เป็นการแสดงถึงความภาคภูมิใจ  สมัยก่อนผู้ที่จบปริญญาตรี  หรือปริญญาโท  อาจจะนำเอาดอกไม้หรือเถาวัลย์มาสวมบนศีรษะ  เพื่อเป็นการแสดงถึงความภาคภูมิใจ  แต่ปัจจุบันเจริญขึ้นแล้ว  มีสิ่งต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย  ตนจึงภูมิใจในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา  ซึ่งการสวมมงกุฎนี้น่าที่จะมีสืบต่อไปให้แก่บัณฑิตแต่ละรุ่น  ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยและเป็นสิ่งที่ดี  ไม่มีอะไรบ่งบอกถึงความเสียหายในเอกลักษณ์การสวมมงกุฎบนศีรษะครั้งนี้

Advertisement

“มั่นใจว่าการสวมมงกุฎเพชรบนชุดครุยของบัณฑิตไม่เป็นความผิด  เพราะเป็นการสวมสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยลงบนศีรษะของบัณฑิตและมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาทุกคน  ซึ่งเป็นความสุขและเป็นความภาคภูมิใจที่เราสำเร็จการศึกษาจากที่นี่” ดร.ธนภัทร กล่าว
201602082220405-20080804112417

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image