สัมภาษณ์พิเศษ : เปิดใจ ‘กิตติพันธ์ พานสุวรรณ’ ปักธง ปั้นมรดกโลก-พลิกโฉมกรมศิลป์

สัมภาษณ์พิเศษ : เปิดใจ ‘กิตติพันธ์ พานสุวรรณ’ ปักธง ปั้นมรดกโลก-พลิกโฉมกรมศิลป์

หมายเหตุ… นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เข้ารับตำแหน่งต่อจาก นายประทีป เพ็งตะโก ที่เกษียณอายุราชการไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา ถือเป็นลูกหม้อกรมศิลปากร ที่ได้กลับมานั่งในตำแหน่งนี้หลังถูกสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปปปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ทั้ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) อธิบดีกรมศาสนา และรองปลัด วธ.นานกว่า 5 ปี “มติชน” ถือโอกาสสัมภาษณ์เปิดนโยบาย และทิศทางการทำงาน

๐เข้ารับตำแหน่งครั้งนี้ เหมือนกลับมาทำงานที่คุ้นเคย?

“เหมือนได้กลับบ้าน หลังถูกสับเปลี่ยนเข้าไปทำงานในกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ทั้งผู้ตรวจราชการ วธ. อธิบดีกรมศาสนา และรองปลัด วธ.นานกว่า 5 ปี ทำให้เห็นว่า งานของกรมศิลปากร กับงานของ วธ.ยังไม่บูรณาการกันได้มากเท่าที่ควร อาจเพราะธรรมชาติการทำงานคนละอย่าง วธ.จะทำงานกับเครือข่ายชุมชนเป็นหลัก ขณะที่กรมศิลปากรจะเน้นงานวิชาการ ทำให้มีจุดอ่อนเรื่องการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือชุมชน อาทิ การกำหนดขอบเขตพื้นที่โบราณสถาน หรือศาสนสถาน ซึ่งพอนำไปใช้กับชุมชนหลายครั้งค่อนข้างมีปัญหาความขัดแย้ง ขาดการทำความเข้าใจ ขณะที่กรมศิลปากรจะยึดความถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งไม่ตรงกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น วัดต้องการใช้ประโยชน์จากอาคารโบราณสถาน ที่อาจต้องมีการปรับปรุงพื้นที่ แต่กรมศิลปากรไม่อนุญาตเพราะผิดหลักวิชาการ เป็นต้น ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาระหว่างผู้ใช้ประโยชน์ กับความเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร กลับมาคราวนี้จึงอยากปรับแนวคิดคนกรมศิลปากรให้เห็นความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในเรื่องการอนุรักษ์ ว่าการอนุรักษ์เพื่อให้ดูและศึกษาประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนต้องให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดความรู้สึกหวงแหนรักษา ทั้งหมดนี้ต้องทำความเข้าใจกับคนของกรมศิลปากรเป็นสำคัญ”

๐5 ปีที่ผ่านมาเหมือนได้รับประสบการณ์ใหม่?

Advertisement

“ได้รับประสบการณ์ในส่วนของการทำงานร่วมกับเครือข่าย การทำงานกับคนที่เข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับหน่วยงานนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปสร้างชุมชนคุณธรรม หรือแม้กระทั่งการเข้าไปทำงานบนพื้นฐานความขัดแย้งลึกๆ แต่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ อย่างตอนทำงานที่กรมการศาสนา 2 ปี ก็มีเรื่องความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่าง แต่ทุกศาสนาก็สามารถทำงานร่วมกันได้ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง เป็นต้น ผมพยายามบอกกับบุคลากร ถ้ากรมศิลปากรทำตามหลักวิชาการได้ 100% แสดงว่าคนอื่นจะไม่ได้อะไรเลย แต่หากกรมศิลปากร ถอยลงมาสักก้าว เพื่อดูว่าอะไรเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดหย่อนปัจจัยรองลงมา ก็จะมีผู้ได้ประโยชน์มากขึ้น เท่ากับ วิน วิน ตรงนี้เป็นงานที่อยากทำเพื่อลดความขัดแย้ง”

 ๐ทำเรื่องคน ถือเป็นงานที่ค่อนข้างยาก?

“เป็นงานที่ยาก แต่ต้องสร้างความเข้าใจ ถ้าจะเน้นวิชาการอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมสังคม ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐ กับผู้ที่ใช้ประโยชน์ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะพยายามปรับเปลี่ยนแนวคิดให้กรมศิลปากรมองไปที่ผู้อื่น รวมถึงจะพัฒนาอบรม ช่วงฝีมือ โบราณคดี ในเรื่องของการอนุรักษ์ เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม โดยหลักการคือให้ทุกคนทำงานร่วมกันให้ได้มากที่สุด จะได้ประโยชน์ 2 อย่างคือ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น หากปูทางตรงนี้ไปเรื่อยๆ และทุกคนเห็นข้อดีก็จะมีการขยายผลต่อเนื่องในอนาคต”

Advertisement

๐เหมือนการปรับโฉมกรมศิลป์ จากอนุรักษนิยมให้เน้นทำงานร่วมกับผู้อื่นให้มากขึ้น?

“ถูกต้อง เพราะเป็นแนวทางที่ยั่งยืน หากทุกคนได้ประโยชน์ ก็จะช่วยกันดูแลและหวงแหนโบราณวัตถุและโบราณสถานซึ่งเป็นสมบัติชาติ ตรงนี้เป็นเรื่องของการพัฒนาคนที่ตั้งใจจะทำ”

 ๐งานที่จะเร่งผลักดันในช่วงที่เป็นอธิบดีกรมศิลปากร?

“ผมมีเวลานั่งในตำแหน่งนี้ 1 ปี ก่อนเกษียณอายุราชการ อาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่ทำแล้วน่าจะผลักดันได้เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ให้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งต้องมีการเข้าไปพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ชุมชน เพื่อจัดทำเอกสารเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์ ทั้งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ถือเป็นธงหนึ่งที่คิดว่าจะทำได้เร็วที่สุด ส่วนจะถึงขั้นประกาศเป็นมรดกโลกหรือไม่นั้น ไม่สามารถบอกได้ แต่ตั้งใจจะพัฒนาไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุด ส่วนที่เหลือคือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ก็จะเร่งดำเนินการ และหากพัฒนาไปได้พร้อมกันทั้ง 3 แห่ง ถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็จะเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาให้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”

“ขณะเดียวกันจะติดตามการพัฒนาพื้นที่ อาคาร การจัดแสดงและการใช้ประโยชน์พื้นที่กว่า 300 ไร่ ที่คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยเฉพาะตรวจความก้าวหน้าการดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และการพัฒนาโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ประกอบด้วย 1.สร้างภาวะแวดล้อม เพื่อการจัดแสดงด้านชาติพันธุ์วิทยาให้ดำเนินการได้ 2.ยกระดับพิพิธภัณฑ์ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ชาติพันธุ์วิทยาของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3.พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์วิทยาไทย โดยวางรูปแบบพัฒนาความรู้ให้เชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑสถานในพื้นที่ 4.สร้างกลไกการบริหารจัดการ โดยพัฒนารูปแบบโครงสร้างองค์กรการบริหารให้มีความคล่องตัว มีการกำหนดกรอบนโยบาย และตัวชี้วัดผลที่ชัดเจน สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับภารกิจของกรมศิลปากร และ 5.พัฒนาและต่อยอดเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม วิจัย ส่งเสริม และต่อยอด ต้นทุนทางวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างการเรียนรู้ ภาคสังคม อย่างยั่งยืน”

๐นอกจากผลักดันมรดกโลกแล้ว ตั้งใจทำเรื่องใดอีก?

“สิ่งที่จะทำต่อไป คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานให้มากขึ้น ทั้งในการอนุรักษ์โบราณสถาน การขึ้นทะเบียน ซึ่งปัจจุบันโบราณสถานในประเทศไทยมีหลายพันแห่ง แต่ขึ้นทะเบียนได้ปีละไม่กี่แห่ง เนื่องจากความล่าช้าในขั้นตอน และการเข้าไปสำรวจ ทั้งนี้ การให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจในปัจจุบันอาจทำให้ชุมชนเกิดความไม่ไว้วางใจ แต่หากปรับมาใช้เทคโนโลยีมาช่วย หรือโดรนเข้ามาช่วย ก็จะลดปัญหานี้ สามารถกำหนดทิศทาง ตำแหน่งที่ตั้งโบราณสถานได้แม่นยำ รวดเร็วมาใช้ในการทำงานการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ศาสนสถาน โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากตัวโบราณสถานในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับผู้ครอบครอง คนในชุมชนนั้นๆ ทำให้การขึ้นทะเบียนทำได้รวดเร็วขึ้น และทำให้บรรลุเป้าหมายการอนุรักษ์โบราณสถานหลายๆ แห่ง”

“นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเผยแพร่ผลงานของกรมศิลปากรในทุกด้าน ทั้งการอนุรักษ์โบราณสถาน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การแสดง และจะผลักดันให้เกิดช่องทางเผยแพร่ผลงานผ่านช่องยูทูบ กรมศิลปากรในอนาคตด้วย นับเป็นมิติใหม่ของการทำงานกรมศิลปากร ที่จะต้องทำให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ให้เข้าถึงคนยุคใหม่ได้ง่ายขึ้น”

 

๐ เวลาน้อย ตั้งเป้าว่าจะสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์?
“จะเร่งผลักดันให้มากที่สุด ทั้งเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลก การใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการทำงาน และการเผยแพร่ อย่างน้อยต้องมีผลงานออกมา โดยตั้งใจจะทำช่องยูทูบเพื่อนำผลงานการแสดงนาฏศิลป์ของแต่ละหน่วยงานมาเผยแพร่ รวมถึง มีชุดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ โดยเฉพาะงานที่ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย มีความพึงพอใจ เพราะทำแล้วเกิดประโยชน์ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรอบ สุดท้ายไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ก็มักจะอยู่ไม่ยั่งยืน ฉะนั้น ต่อไปจะคัดเลือกแหล่งโบราณสถานที่สามารถพัฒนา เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เพื่อจัดส่งยูทูบเบอร์ลงไปถ่ายทำเพื่อเผยแพร่ เพราะข้อมูลต่างๆ มีอยู่แล้ว

งานที่คิดว่าจะทำ จะตกทอดไปถึงคนอื่นหรือไม่ ไม่อาจตอบได้ แต่แนวคิดที่จะทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน โดยเฉพาะกับสังคม และชุมชน เป็นงานที่น่าจะมีความยั่งยืนมากกว่าการซ่อมโบราณสถานสักแห่งหนึ่ง และทิ้งไว้ไม่มีคนดูแล ถ้าซ่อมให้เขาดูแล แล้วมีประโยชน์ต่อชุมชน ตรงนี้เป็นหัวใจที่ผมคิดว่าอยากจะทำ”

๐ ทราบหรือไม่ว่าจะได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นอธิบดีกรมศิลปากร?
“ไม่เชิงว่ารู้ตัว แต่คิดว่าเราเองเป็นตัวเลือกหนึ่ง และอาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับช่วงเวลานี้ เพราะถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ และมีอาวุโสรองจากนายประทีป อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ทั้งนี้ ผมเองแต่แรกก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องกลับมาที่กรมศิลปากร หรือต้องไปอยู่ที่ไหน ความเป็นข้าราชการมืออาชีพ ผู้บังคับบัญชาให้ไปอยู่ที่ไหน ก็ต้องทำงานให้ได้ ส่วนงานใดที่ถนัด ก็เข้าไปช่วย อย่างเช่นตอนเข้าไปอยู่ส่วนกลางใน วธ.ก็มีโอกาสเข้าไปช่วยงานตามศาสนสถานต่างๆ เพราะบางครั้งทางวัดก็มีเรื่องที่ต้องประสานกับทางกรมศิลปากร ผมในฐานะคนกรมศิลปากร ก็เข้าไปช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น”

๐ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรฝากให้สานเรื่องใดต่อหรือไม่?
“นายประทีปไม่ได้ฝากงานอะไร ไม่เฉพาะนายประทีป แต่รวมถึงอดีตอธิบดีกรมศิลปากรทุกคน มีความเป็นสุภาพบุรุษ เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ก็จะถือว่าอำนาจการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เป็นของอธิบดีคนปัจจุบัน”

๐ คนจะมองว่าอธิบดีกรมศิลปากร ต้องมาจากคณะโบราณคดีเท่านั้น?
“คิดว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ผมเองเป็นวิศวกร ทำงานในสำนักสถาปัตยกรรม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนจากสำนักสถาปัตยกรรมขึ้นมาเป็นอธิบดีเลย ถ้าจะไล่เรียงในช่วงเวลาไม่นานมาก จะมีอยู่หลายคน เช่น พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น, นายอารักษ์ สังหิตกุล, นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต

ส่วนสาเหตุที่คนจบโบราณคดีขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมศิลปากรมาก อาจเพราะโบราณดคีมีอยู่ 12 สำนักทั่วประเทศ ทำให้มีคนเยอะ ยังไม่รวมหน่วยงานอื่นๆ ขณะที่สำนักสถาปัตยกรรมมีเพียง 2 หน่วยงาน คือ สถาปัตยกรรม และสำนักช่างสิบหมู่ อีกส่วนหนึ่งเพราะคนจากสำนักสถาปัตยกรรมขาดช่วง โตไม่ทัน และบางคนไม่ชอบทำงานสายบริหาร

ข้อเสียของกรมศิลปากร คือคนจะรักกรมศิลปากรมาก ปีท้ายๆ ไม่ยอมไปอยู่ที่อื่น อยากเกษียณที่กรมศิลปากร ทำให้คนที่จะหมุนเวียนไป วธ.น้อยลง พอทุกคนเกษียณ ข้างล่างเลยโตมาไม่ทัน เพราะทุกคนไม่ขยับ”

๐ ตั้งใจนั่งทำงานที่ห้องอธิบดีกรมศิลปากร สนามหลวง ก่อนปิดบูรณะ?
“ใช่ แต่เมื่อปิดบูรณะ ก็ต้องย้ายไปทำงานที่กรมศิลปากร เทเวศน์ ที่อยากนั่งทำงานห้องนี้ก่อน เพราะรู้สึกผูกพัน ผมเริ่มรับราชการที่กรมศิลปากร เมื่อปี 2528 มารายงานตัวรับราชการวันแรก ก็ที่ตึกนี้ เติบโตมาจากที่นี่ จากเมื่อก่อนรับราชการใหม่ๆ มาส่งหนังสือราชการ รู้สึกว่าห้องนี้มันไกลเหลือเกิน ไม่ได้คิดในเรื่องของโชคลาง หรือตำแหน่ง แต่เป็นความตั้งใจ เพราะปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะรับราชการ ก็คิดว่าน่าจะดีถ้าได้มานั่งที่ห้องนี้ เป็นเรื่องของความรู้สึก และความภาคภูมิใจ ผู้บังคับบัญชาที่เคยเอ็นดูเรา ก็นั่งตึกนี้ ทั้งหมดเป็นความผูกพัน”

๐ อธิบดีคนต่อไป ต้องไปนั่งห้องทำงานที่เทเวศน์?
“ตรงนี้ไม่แน่ใจ หากบูรณะเสร็จ และอธิบดีคนต่อไปอยากนั่งที่สนามหลวงก็คงได้ แต่ก็ต้องมาคิดว่า ลูกน้องอยู่ที่เทเวศน์หมด ดังนั้น การทำงานอาจไม่สะดวกเท่าที่ควร คิดว่าคนรุ่นใหม่ อาจจะไม่ยึดติด ผมอาจเป็นอธิบดีคนสุดท้ายที่นั่งทำงานที่ห้องอธิบดีกรมศิลปากร สนามหลวง และเป็นคนสุดท้ายในยุคเบบี้บูม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยุคไทยแลนด์ 1.0 ยุคเกษตรกรรม เป็นเด็กวัด เพราะฉะนั้นรุ่นถัดไป ก็จะเป็นคนจากอีกรุ่นหนึ่งที่มีแนวคิดทันสมัยขึ้น”

๐ ผลงานที่ภาคภูมิใจในชีวิตราชการ?
“ถ้าเป็นรูปธรรม และได้รับรางวัลยอดเยี่ยม UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation การอนุรักษ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ และพรินทร์ปริยัติ ธรรมศาลา วัดปยุรวงศาวาสวรวิหาร จาก UNESCO ปี พ.ศ.2556 ผลงานร่วมการออกแบบบูรณะกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นแนวคิดให้เห็นว่าต้องใช้นักวิชาการภายนอกเข้ามาช่วยทำงาน แม้กรมศิลปากรจะทำได้ แต่ถ้าร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกส่วนเป็นงานที่ภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสทำงานถวายในหลวง ร.9 และในหลวง ร.10 เพราะได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสร้างพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และหลังจากที่ได้ไปอยู่กรมการศาสนา ก็ได้มีโอกาสถวายงานในหลวง ร.10 ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในฐานะผู้ที่ดูแลงานด้านศาสนา และได้มีโอกาสสนองงานด้านศาสนาหลายองค์กร อาทิ การรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เป็นต้น ถือเป็นความทรงจำด้านดีในชีวิต ส่วนที่เหลือเป็นความภูมิใจในชีวิตการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความรู้สึกที่ดีจากผู้ร่วมงานทุกคนในทุกหน่วยงานทีมีโอกาสเข้าไปทำงานด้วย”

๐ คติประจำใจในการทำงาน?
“เป็นคนไม่มีคติในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการทำงานไม่สามารถมีคติเดียวแล้วตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง แต่จะยึดหลักการทำงานที่ ‘เอาใจเขา มาใส่ใจเรา’ จะคิดเสมอว่า ถ้าเป็นเรา แล้วอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น จะทำอย่างไร ตรงนี้จะทำให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image