เจ๋ง ! เด็กไทยชนะเอกฉันท์วาดปก “หนังสือต้องห้าม” ของสมาคมห้องสมุดสหรัฐฯ กรรมการยัน การอ่านคือหนึ่งใน ‘เสรีภาพ’

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่าง วันที่ 25 ก.ย. – 1 ต.ค. ของทุกปี สมาคมห้องสมุดอเมริกัน หรือ American Library Assoication: ALA จะมีการจัดงานหรือนิทรรศการต่างๆตามห้องสมุดทั่วประเทศ โดยในปีนี้ห้องสมุดสาธารณะเมืองแชปเปิ้ลฮิล ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา มลรัฐนอร์ทแคโรไลน่า ได้จัดประกวดการวาดภาพจากหนังสือต้องห้าม เป็นปีที่ 4 ซึ่งมีสนใจส่งภาพเข้าประกวด 75 คน และกรรมการจะทำการคัดเลือกภาพ 7 ภาพเพื่อเป็นตัวแทนของหนังสือในแต่ละวันตลอดหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งนางสาวธนัชชา เลิศจรรยารักษ์ อายุ 17 ปี นักเรียนไทยซึ่งกำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในสหรัฐอเมริกาได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในเจ็ดคน ผู้ชนะได้รับการผลิตผลงานเป็นโปสเตอร์ และโปสการ์ดขนาดเล็กสำหรับแจกจ่ายไปตามห้องสมุด รวมทั้งสำหรับขายให้คนทั่วไป

นางซูซาน บราวน์ ผู้อำนวยการห้องสมุดสาธารณะเมืองแชปเปิ้ลฮิลล์
นางซูซาน บราวน์ ผู้อำนวยการห้องสมุดสาธารณะเมืองแชปเปิ้ลฮิลล์

นางซูซาน บราวน์ ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองแชปเปิ้ลฮิล กล่าวว่า “ประเทศสหรัฐอเมริกา สนับสนุนให้มีเสรีภาพในทุกๆด้าน การอ่านก็เป็นหนึ่งในเสรีภาพนั้น ทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้อ่าน ผู้เขียนก็ควรมีสิทธิเผยแพร่ความคิดที่เขาอยากจะเขียน เป็นเสรีภาพในการพูดการแสดงความคิดเห็นซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญ

สำหรับการตัดสิน มีการคัดเลือกจากงานที่มีเอกลักษณ์ ไม่ลอกเลียนงานผู้อื่น ไม่ใช้ภาพหรือการพิมพ์ การวาดภาพนั้นทุกคนก็ต้องอ่านเรื่องให้เข้าใจ เมื่องานประกวดเสร็จสิ้นลง ก็จะดึงดูดให้ผู้ใช้ห้องสมุดสนใจในหนังสืออีกหลายๆเล่มที่ผู้เข้าประกวดหยิบขึ้นมาวาด ตลอดสี่ปีที่มีโครงการนี้มา มีผู้สนใจส่งภาพเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก บางปีมีถึง 90 ภาพ

ส่วนกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วย  ผู้อำนวยการห้องสมุด นายกเทศมนตรีเมืองแชปเปิ้ลฮิลล์ และชาวเมือง รวมถึงเจ้าของร้านหนังสือชื่อดัง 2 ราย  และ ศิลปินอีก 1 ราย

Advertisement

“ภาพของธนัชชา เป็นภาพที่กรรมการทุกคนเห็นเป็นเอกฉันท์ เลือกออกมาเป็นภาพแรก เพราะมีความโดดเด่น และชัดเจนในการนำเสนอ” ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองแชปเปิ้ลฮิลกล่าว

ธนัชชา03

ทั้งนี้ โครงการ Banned Books Trading Cards นี้เกิดจากการต้องการส่งเสริมให้ศิลปินในท้องถิ่น ได้แสดงออกต่อหนังสือที่ถูกห้ามอ่าน โดยสามารถเข้าไปดูรายชื่อได้ในเวปไซต์หนังสือต้องห้าม ในชื่อต่างๆ เช่น banned books, challenged books แล้วทุกคนจะประหลาดใจ ในชื่อหนังสือ และเหตุผลที่ถูกห้ามอ่าน เคยรู้ไหมว่า ไบเบิ้ลก็เป็นหนังสือต้องห้าม รวมทั้งแฮรี พอตเตอร์ด้วย นางซูซาน เพิ่มเติมว่า ได้ส่งการ์ดภาพพร้อมคำบรรยายไปยังห้องสมุดเครือข่ายทั่วสหรัฐ และยินดีที่จะส่งการ์ดดังกล่าวนี้ให้แก่ห้องสมุดไทย กรณีที่มีผู้แจ้งความจำนงมายังห้องสมุดเมืองแชปเปิ้ลฮิลล์

อนึ่ง เรื่อง Animal Farm เป็นนวนิยายสะท้อนสังคมของ จอร์ช ออร์เวล นักเขียนชาวอังกฤษ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2488 ซึ่งใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ตีพิมพ์ เนื่องจากเป็นนวนิยายแนวเสียดสีการปกครองของสหภาพโซเวียต ในยุคที่สตาลินปกครอง ว่าเป็นการปกครองที่เลวร้ายโดยเผด็จการซึ่งมักจะใช้เทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อแนวทางการปกครองของตน ซึ่งอีกสิบปีต่อมาหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐหรือ ซีไอเอ ได้ให้ทุนผลิตเป็นภาพยนตร์ นวนิยายเรื่องนี้สมมติตัวละครคือสัตว์ต่างๆที่เคยถูกมนุษย์ปกครอง

ธนัชชา04

นางสาวธนัชชากล่าวว่า  หมูซึ่งเป็นผู้นำได้ปฏิวัติเจ้าของฟาร์ม และสัตว์ทุกตัวเข้าร่วมเพราะไม่พอใจการปกครองของมนุษย์ แต่เมื่อหมูขึ้นมาปกครองนั้น เขาก็ปฏิบัติตนไม่ต่างไปจากผู้ปกครองคนก่อน หรือาจจะเลวร้ายกว่า หมูไม่อนุญาตให้สัตว์อื่นๆดื่มนม หรือกินแอปเปิ้ลซึ่งหมูก็รู้ว่า ทั้งสองสิ่งนี้มีประโยชน์ เรื่องAnimal Farm นี้เป็นหนังสือประกอบการเรียนชั้นมัธยมที่ทุกคนต้องอ่าน คิดว่าไม่น่าจะตีความเพียงแค่เรื่องของสตาลิน แต่การอ่านเนื้อหานั้น เข้าใจได้ว่าน่าจะตีความได้ถึงผู้ปกครองได้ทั่วโลก ที่มีแนวทางการปกครองที่เอาเปรียบประชาชน แอปเปิ้ล กับนม เป็นเพียงตัวแทนทรัพยากรต่างๆในประเทศ ที่ผู้ปกครองสงวนเอาไว้สำหรับตนเอง และครอบครัวซึ่งในที่นี้ก็คือคณะรัฐบาล แต่ปล่อยให้ประชาชนอดๆอยากๆ รวมทั้งความรู้ต่างๆก็ไม่ยอมให้ประชาชนได้รับความรู้เพราะกลัวว่าจะฉลาด ทำให้ปกครองยาก ประชาชนเหมือนกับถูกปิดตาให้ตาบอดมองไม่เห็น ทำให้ง่ายต่อการปกครองเพราะไม่รู้ไม่เห็นสิ่งที่ผู้ปกครองกระทำ

“ต้องค้นคว้าและอ่านหนังสือที่คิดว่าจะวาดส่งภาพประกวด ซึ่งการที่จะวาดได้นั้นต้องสรุปความคิดให้ชัดเจน และสื่อออกมาเป็นภาพให้ผู้ชมได้เห็น รวมถึงการเลือกใช้สีด้วย”  ซึ่งนางสาวธนัชชากล่าว และว่า ตนได้วาดภาพนี้ขณะที่กลับมาเยี่ยมเมืองไทยเมื่อตอนปิดเทอมช่วงเดือนมิ.ย. ถึงต้นเดือนส.ค. และนำภาพกลับไปส่งประกวดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเปิดเทอม นอกจากนั้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นางสาวธนัชชา เลิศจรรยารักษ์ ยังเคยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในห้าของทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ ไทย-อเมริกัน จากสถานทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อกลับไปเยือนหน่วยงานวิทยาศาสตร์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกาให้กับเยาวชนชาวไทย

ธนัชชา05

ธนัชชา07jpg

ธนัชชา09

ธนัชชา08

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image