ศธ.คิกออฟดึง 6.6 หมื่น น.ร.กลับโรงเรียน ธ.ค.นี้ ‘ตรีนุช’ ให้เป็นของขวัญวันเด็ก ปี’65

ศธ.คิกออฟดึง 6.6 หมื่น น.ร.กลับโรงเรียน ธ.ค.นี้ ‘ตรีนุช’ ให้เป็นของขวัญวันเด็ก ปี’65 สั่ง สพฐ.ผุดแอพพ์ปักหมุดหาที่อยู่นักเรียน

ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางลดความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ อีกทั้ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญ และต้องการแก้ปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จึงกำหนดให้การดึงเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วน โดยมอบหมายตนเป็นประธานคณะทำงานวางแผนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายการจัดการของ ศธ.ด้านการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

“เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานวางแผนฯ ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานการจัดการศึกษาในสังกัด ศธ.ได้แก่ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งผู้แทนแต่ละหน่วยงานได้รายงานข้อมูลจำนวนผู้เรียนในสังกัดที่ออกกลางคันภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ดังนี้ กศน. 1,483 คน, สช.ออกกลางคัน 2,578 คน, สอศ.แบ่งเป็น รัฐ 16,690 คน เอกชน 18,161 คน และ สพฐ.แบ่งเป็น กลุ่มเด็กทั่วไป 5,621 คน กลุ่มเด็กพิการ 7,137 คน กลุ่มรอยต่อ 14,953 คน รวมมีนักเรียน/นักศึกษา ออกกลางคันทุกสังกัด 66,623 คน” ร.ต.ธนุ กล่าว

ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าวต่อว่า ปัญหา และสาเหตุที่ออกกลางคัน มีดังนี้ ปัญหาด้านสุขภาพ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ผู้ปกครองอาจจะติดเชื้อ ทำให้ต้องออกมาดูแลพ่อแม่ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ครอบครัวได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ทำให้ไม่มีรายได้ เด็กต้องออกมาทำงานหารายได้จุนเจือครอบครัว ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน คือเด็กย้ายตามผู้ปกครองที่เปลี่ยนอาชีพ ทั้งนี้ จำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ ศธ.ต้องต้องวางแผน จัดระบบหาวิธีให้เด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ คณะทำงานวางแผนฯ จึงจัดทำโครงการ “กระทรวงศึกษาธิการห่วงใย นำนักเรียน นักศึกษาไทย กลับสู่ระบบการศึกษา” โดยมีแผนการดำเนินการคร่าวๆ ดังนี้ สพฐ.จัดทำแอพพลิเคชั่น เพื่อปักหมุดหาถิ่นที่อยู่ของนักเรียน ซึ่งจะทำให้ที่ทุกหน่วยงานใน ศธ.เชื่อมโยงข้อมูลเด็กร่วมกัน เป็นการตรวจสอบความซ้ำซ้อน และทำให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันมากที่สุด คาดว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน

“เมื่อแอพพลิเคชั่นสามารถปักหมุดนักเรียน นักศึกษาที่ออกกลางคันได้แล้ว ขั้นต่อไปจะประชุมทำความเข้าใจกับทุกสังกัดให้ทราบแนวทางการลงพื้นที่ค้นหาติดตามเด็ก และในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะคิกออฟเปิดโครงการ ศธ.ห่วงใยฯ ให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และไม่หลุดจากระบบอีก เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กปี 2565 หลังจากเปิดโครงการแล้ว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งคนลงไปเช็คอินบ้านเด็ก โดยจะลงพื้นที่รับฟังปัญหาของผู้ปกครอง และเด็ก ว่ามีปัญหาอะไร ไม่พร้อมด้านไหน เด็กอยากจะเรียนต่อหรือไม่ ถ้าอยากเรียนต่อ อยากจะไปเรียนสายสามัญ หรือสายอาชีพ หรือไปเรียน กศน.โดยจะทำสะพานเชื่อมให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อไป” ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าว

Advertisement

ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าวต่อว่า เมื่อนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้แล้ว ต้องมีแผนป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาอีก เช่น ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาทุนการศึกษาให้กับเด็ก ส่งเสริม และสร้างอาชีพให้เด็ก เพื่อให้มีรายได้ระหว่างเรียน ส่วนนักเรียนที่พิการ สพฐ.ได้มอบหมายให้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ลงพื้นที่ดูแลนักเรียนถึงบ้าน เพื่อช่วยเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้ลงพื้นที่ปักหมุดบ้านเด็กพิการ และนำเด็กเข้าสู่ระบบแล้ว 5,046 คน ยังมีที่ค้นหาไม่พบ 2,121 คน โดยแผนดึงเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษานี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นชอบ และเร่งรัดให้คณะทำงานฯ ติดตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image