รายงานการศึกษา : ปั้น ‘เชฟ-นักพัฒนาเว็บไซต์’ สร้างอาชีพผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

รายงานการศึกษา : ปั้น ‘เชฟ-นักพัฒนาเว็บไซต์’ สร้างอาชีพผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

จากสถานการณ์ของโควิด-19 ได้สร้างชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ขึ้นหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ “การเรียนออนไลน์” จากเดิมที่การเรียนการสอนเป็นแบบพบกันในห้องเรียน ต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนผ่านจอบนชั้นเรียนออนไลน์แทน แน่นอนว่านักเรียนต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ และได้ส่งเสียงสะท้อนถึงความท้าทายในการเรียนออนไลน์ออกมาอย่างหลากหลายในโซเชียลมีเดีย เช่น การเข้าถึงอุปกรณ์ไอที ปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ต

ขณะที่ห้องเรียนมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้มากกว่า ทั้งยังได้รับคำแนะนำจากครูผู้สอนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวิชาที่มีการฝึกปฏิบัติ จนมีกระแสเรียกร้องให้หยุดเรียนออนไลน์ 1 ปี รอให้สถานการณ์ดีขึ้น เพื่อพาเด็กกลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง

แต่เพราะการศึกษาไม่สามารถหยุดได้ ทางออกของเรื่องนี้ จึงอยู่ที่การจัดการเรียนการสอนออนไลน์อย่างไรให้สามารถส่งเสริม และกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน ให้ได้รับความรู้ และทักษะทางอาชีพให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายของโครงการ STEM Career Academies ในการสร้างเยาวชนสู่การเป็นบุคลากรสายอาชีพที่มีคุณภาพ ภายใต้เงื่อนไขการเรียนในระบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน

Advertisement

โครงการ STEM Career Academies หรือ โครงการพัฒนาโมเดลสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเยาวชนที่ขาดโอกาสสู่การเป็นบุคลากรในสายอาชีพ ที่มีความรู้ และทักษะสอดคล้องกับความต้องการในโลกปัจจุบัน อาทิ ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และแอพพลิเคชั่น เกษตรกรยุคใหม่ เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคง ก้าวหน้า ให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) ภายใต้ โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”

โครงการ STEM Career Academies ได้พัฒนารูปแบบให้เข้ากับยุค New Normal ตลอดจนแก้ไขข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ นำร่องที่การฝึกอบรมอาชีพเชฟ นักพัฒนาเว็บไซต์ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ด้วยการให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนออนไลน์แบบ Livestream และส่งเสริมทักษะอื่นๆ ไปด้วย เช่น ความพร้อมในการทำงานในยุคดิจิทัล ทักษะด้านการสื่อสาร การบริหารจัดการ การคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาต่างๆ

นอกจากนี้ ผู้เรียนจะมีโอกาสได้เรียนรู้กับเมนเทอร์ หรือที่ปรึกษา ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานจริง มีการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เช่น มอบซิมโทรศัพท์เพื่อการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง เครื่องครัวครบชุดเพื่อการทำอาหารทุกประเภท หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไอที ที่จำเป็นสำหรับการเรียน เพื่อลดอุปสรรคเรื่องเครื่องมือ และปรับหลักสูตรการสอนเพื่อผู้เรียน และเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางการทำงานจริง

บางคนอาจเริ่มขมวดคิ้วแล้วเกิดคำถามว่า การพัฒนาทักษะทางอาชีพผ่านระบบการเรียนแบบ Livestream จะสร้างความตื่นเต้น และทำให้ผู้เรียนเข้าใจ ได้ฝึกทักษะอาชีพ และมองเห็นอนาคตของตัวเองได้อย่างไร

วรรธนัย ไกรเพ็ชร หรือ น้องเบส หนึ่งในผู้เรียนในสายวิชาชีพนักพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ในโครงการ STEM Career Academies เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเป็นคนไม่สนใจการเรียนในห้อง เพราะรู้สึกเหมือนถูกละเลยจากครูผู้สอน ไม่กล้าตั้งคำถาม และไม่เห็นภาพว่าวิชาที่เรียน จะตอบโจทย์การทำงานในอนาคตอย่างไร แต่พอได้มีโอกาสเรียนคอร์สระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะในการทำงานด้านไอที แม้ว่าจะไม่ได้เรียนในห้องโดยตรง แต่ก็รู้สึกว่าการสอนในชั้นเรียนออนไลน์ ทำให้อยากเรียนรู้ และสนุกกับการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

“นอกจากนั้น โครงการยังส่งอุปกรณ์การเรียนมาให้ผมครบถ้วน ระหว่างการสอนก็จะมีการฝึกให้ทำไปด้วย พอมีอะไรที่ผมทำไม่ได้ หรือเริ่มมีปัญหา พี่ๆ เมนเทอร์จะคอยให้คำตอบ และถ่ายทอดความรู้ตลอด แม้ว่าจะไม่ได้เจอหน้ากัน สำหรับผม ผมรู้สึกกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ทักษะในการพัฒนาเว็บไซต์ก็ถูกพัฒนามากขึ้น จนทำให้ผมมั่นใจ และสามารถมองเห็นเส้นทางอาชีพด้านไอทีชัดเจนยิ่งขึ้น”

นอกเหนือจากทักษะด้านไอที วงการนักรังสรรค์อาหาร ถือเป็นอีกหนึ่งการปรับตัวทางด้านการสอนที่ท้าทายทั้งเชฟรอน และเมนเทอร์ ที่จะออกแบบการเรียนให้ผู้เรียนฝึกมือได้อย่างไรให้ตรงจุดที่สุด

อิสกันดาร์ กูโน หรือ น้องดาร์ หนึ่งในผู้เรียนในสายวิชาชีพศิลปะการประกอบอาหารและโภชนาการเบื้องต้น ในโครงการ STEM Career Academies บอกว่า ก่อนที่จะได้พัฒนาทักษะจากโครงการนี้ เคยเรียนทำอาหารออนไลน์ แต่อุปสรรคการเรียนทั้งเรื่องอินเตอร์เน็ต และเครื่องครัวที่ไม่ครบถ้วน ทำให้เรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ ตั้งแต่เข้าโครงการ STEM Career Academies ได้รู้ว่าวิทยาศาสตร์ และการทำอาหารเป็นของคู่กัน พี่ๆ เมนเทอร์คอยสอนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทางโครงการสนับสนุนทั้งเครื่องครัวที่ครบถ้วน อินเตอร์เน็ตที่เร็ว และแรง ทำให้เข้าถึงทักษะต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

น้องดาร์ยังบอกอีกว่า “แม้ว่าการเรียนในโครงการจะถูกปรับให้เป็นแบบออนไลน์ ที่เชฟผู้สอนไม่ได้ใกล้ชิดเรา แต่เทคนิคการสอนก็ช่วยให้ผมรู้สึกสบายใจ และได้ความรู้อย่างเต็มเปี่ยม เปิดมุมมองที่ทำให้ผมรู้ว่า วิทยาศาสตร์กับการทำอาหารก็เป็นของคู่กัน และผมคิดว่าจะนำทักษะเหล่านี้ไปต่อยอด เพื่อประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวในอนาคตอีกด้วย”

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนสู่ระบบออนไลน์ เพื่อให้เยาวชนยังคงได้รับการพัฒนาความรู้ และทักษะอย่างต่อเนื่อง โครงการ STEM Career Academies จึงต้องปรับวิธีการสอนสู่ระบบออนไลน์ โดยลดข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ต่างๆ ลงให้น้อยที่สุด รวมถึง เพิ่มความรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคตเข้าไปในหลักสูตร เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด ให้โครงการบรรลุเป้าหมายในการ พัฒนาความรู้ และทักษะอาชีพ ให้กับเด็กที่ขาดโอกาส

ทั้งนี้ STEM Career Academies ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้เยาวชนไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image