‘วิษณุ’ จี้ ศธ.ปรับการศึกษาพัฒนากำลังคนรับการทำงานในโลกที่ผันผวน

‘วิษณุ’ จี้ ศธ.ปรับการศึกษาพัฒนากำลังคนรับการทำงานในโลกที่ผันผวน

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานประชุมเครือข่ายการศึกษาและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เรื่อง “ทิศทางการศึกษาไทยกับการพัฒนากำลังคนในศตวรรษที่ 21 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสำหรับการทำงานในโลกที่ผันผวน” และมอบนโยบายและทิศทางการศึกษาไทยในปัจจุบัน โดยมีน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย

นายวิษณุ กล่าวภายหลังในการมอบนโยบายและทิศทางการศึกษาไทยในปัจจุบัน ว่า การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจะต้องทำหลายอย่าง ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วเห็นผลทันที ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ระหว่างผลักดันในรัฐสภา โดยพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินั้น จะเป็นเข็มทิศทางนำทาง ส่วนการปฏิรูปการศึกษาด้านอื่นๆ ศธ.ก็อยู่ระหว่างจัดทำเช่นกัน และสิ่งที่สำคัญอย่างมากคือ การพัฒนาทรัพยากรศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องพัฒนาร่วมกันโดยมีศธ. เป็นหลัก ที่จะเป็นต้นทาง ต้นน้ำในการผลิตคน ดังนั้นหากประเทศต้องการคนแบบไหน จะต้องผลิตคนไปทางนั้น ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะนำการศึกษามาต่อยอดพัฒนามนุษย์ พัฒนาคนให้มีคุณภาพ จึงเชิญผู้แทนหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย ผู้แทนเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย มาหารือร่วมกันในการพัฒนามนุษย์ ว่าหอการค้าต่างประเทศ ที่เป็นภาคเอกชนเป็นผู้ใช้แรงงานมีความต้องการกำลังอย่างไร ซึ่งความคิดเห็นนี้อาจจะแตกต่างจากความคิดของภาครัฐซึ่งมีเอกอัครราชราชทูตเป็นตัวแทนก็ได้ เช่นเดียวกับประเทศไทย สิ่งที่ ศธ.กำลังผลักดันอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานก็ได้ ดังนั้นการประชุมร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นการรับฟังข้อมูล และกลั่นกรองว่ามีอะไรดีที่ควรจะปรับมาใช้ ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้มาทำแผนพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานต่อไป

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดเวทีรับฟังการปฏิรูปกฎหมายของไทย โดยเชิญสถานทูตและหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย มาให้ความเห็นถึงกฎหมายไทยอย่างไร โดยเฉพาะกฎหมายด้านธุรกิจของไทย ซึ่งรัฐบาลได้นำความคิดเห็นเหล่านี้มาปรับใช้ ซึ่งได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี วันนี้เรามาเปิดเวทีรับฟังความเห็นด้านการศึกษา ซึ่งเราหวังว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งของคุณ สกศ.ที่ตื่นขึ้นมาจัดงานนี้ขึ้น ไม่อย่างนั้นภาครัฐก็จะคิดเอง พูดเอง และดำเนินการพัฒนาอยู่คนเดียว  หากวันนี้มารับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนภาครัฐ และเอกชนของต่างประเทศ จะทำให้เราสามารถวางแผนพัฒนากำลังคนในอนาคตต่อไปได้” นายวิษณุ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ขณะนี้โลกกำลังเข้าสู่ VOCA World ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงผันผวนตลอดเวลา ซึ่งตนอยากให้คนไทยรู้จักคำนี้มากๆ โดย VUCA World ประกอบด้วย Volatility ความผันผวน Uncertainty ความไม่แน่นอน Complexity ความสลับซับซ้อน Ambiguity ความคลุมเครือ ขณะเดียวกันเราเจอกับดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยีที่ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมานั่งคิดให้ได้ว่าจะทำอย่างไรที่จะปรับสภาพสังคมไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจะต้องให้คนไทยรู้จักปัญหา แล้วค่อยมาหาทางแก้ การศึกษาจะเป็นทางออกทางหนึ่งที่จะช่วยเรา ซึ่งขณะนี้การจัดการเรียนการสอนของไทยยังล้าสมัย ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก ไม่สามารถที่จะทำให้เด็กคิดเองได้ ดังนั้นต่อไป จะต้องมาปรับปรุงการศึกษาโดยรับฟังความคิดเห็น และนำตัวอย่างที่ดีจากประเทศต่างๆมาดัดแปลงพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

Advertisement

ด้าน นส.ตรีนุช กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนไทยในทุกช่วงวัย เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการรองรับการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน การพัฒนากำลังคนเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ ประกอบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกเข้าสู่ยุค “VUCA World” ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติทั้งเทคโนโลยีและการแข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับทั้งการศึกษาและการทำงาน

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ทิศทางและรูปแบบการศึกษาทุกระดับและประเภทจึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถพัฒนากำลังคนให้มีความยืดหยุ่นเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ของโลกที่ผันผวน สามารถเข้าถึงโอกาสในการทำงาน และรองรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้  ทั้งนี้ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ของศธ.ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษาว่า “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” ซึ่งการจัดการศึกษาให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวและการพัฒนากำลังคนให้สามารถดำรงชีวิตในโลกที่ผันผวนได้นั้น ต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับ อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ  ที่มีความสำคัญในการกำหนดความต้องการทักษะที่จำเป็นในโลกของการทำงาน

“สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะหน่วยงานระดับนโยบายที่มีภารกิจในการจัดทำแผนและนโยบายการศึกษาของประเทศ จึงกำหนดจัดประชุมเครือข่ายการศึกษาและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เรื่อง “ทิศทางการศึกษาไทยกับการพัฒนากำลังคนในศตวรรษที่ 21 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสำหรับการทำงานในโลกที่ผันผวน” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ศธ. หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และหุ้นส่วนทางการศึกษา ได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการศึกษาไทยกับการเตรียมกำลังคนสู่ปี 2025 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสำหรับการทำงานในโลกที่ผันผวน โดยหลังจากนี้ศธ.จะได้มีการหารือและสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในการพัฒนากำลังคนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาโมเดลการจัดการศึกษาของประเทศในทุกระดับต่อไป” น.ส.ตรีนุชกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image