ยธ.ผุดมหกรรม…ปลดแอก ช่วย ‘ลูกหนี้-ผู้ค้ำ’ กยศ.

สกู๊ปหน้า 1 : ยธ.ผุดมหกรรม…ปลดแอก ช่วย ‘ลูกหนี้-ผู้ค้ำ’ กยศ.

หลายครั้งที่เห็นข่าวครู และผู้อำนวยการโรงเรียน ถูกศาลยึดทรัพย์ ยึดบ้านยึดที่ดิน เนื่องจากไปเป็น “ผู้ค้ำประกัน” ให้ “ผู้กู้” ซึ่งเป็นนักเรียนไปกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หลายสิบรายแต่เมื่อเรียนจบ ทำงานแล้ว นักเรียนกลับไม่ยอมชดใช้หนี้จนทำให้ครูที่เป็นผู้ค้ำประกันต้องมารับผิดชอบชดใช้หนี้แทน หรือกระทั่งพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่นำที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ก็ยังถูกยึดทรัพย์ ยึดที่ดิน เพราะผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหลานของตนเจตนาไม่ใช้หนี้ ก็มีมาแล้ว !!

กรณีเหล่านี้มีเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย จึงเกิดคำถามตามมาว่า เมื่อเป็นหนี้ ต้องชำระหนี้ แล้วทำไมผู้กู้หลายล้านคนถึงผิดนัดชำระหนี้ ไม่สามารถจ่ายหนี้ กยศ.ได้ ??

ปัญหานี้ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดี และดำเนินการยึดทรัพย์ตามกฎหมายไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ ยธ. เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะของประชาชนที่เกิดในยุค Generation Y (Gen Y) คืออยู่ในช่วงปี พ.ศ.2523-2540 ที่ส่วนใหญ่กู้เงิน กยศ.และเป็นวัยที่กำลังเริ่มทำงาน การที่คน Gen Y เป็นหนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คน Gen นี้ไม่มีความสุข ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ จนทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ กยศ.ได้ จึงตั้งคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุน กยศ. โดยมี นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ เป็นประธาน

นายวิวรรธนไชย บอกเล่าหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงานว่า คณะกรรมการประสานงานมีหน้าที่พิจารณาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แผนการดำเนินงานและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน กยศ.ทั้งก่อนศาลพิพากษา และภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ในส่วนที่เป็นภารกิจของ ยธ.โดยนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้

Advertisement

ทั้งนี้ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าขณะนี้มีประชาชน 6.4 ล้านราย ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สินของ กยศ.แบ่งเป็น ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ และยังไม่ได้ถูกฟ้อง 2.4 ล้านราย ในจำนวนนี้ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ 1.3 ล้านราย ผิดนัดชำระหนี้แล้ว 1.1 ล้านราย มีผู้กู้ที่ถูกพิพากษาแล้วอยู่ระหว่างบังคับคดี 1.2 ล้านราย รวมแล้วมีผู้กู้ทั้งหมด 3.6 ล้านราย และมีผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านราย เมื่อแบ่งผู้กู้ยืมตามภูมิภาค ตามข้อมูลวันที่ 31 สิงหาคม 2564 มีรายละเอียดดังนี้

ภาคเหนือ มีผู้กู้ยืม 1,125,837 ราย เงินให้กู้ยืม 123,850 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้กู้ยืม 2,026,877 ราย เงินให้กู้ยืม 199,564 ล้านบาท ภาคกลาง มีผู้กู้ยืม 610,108 ราย เงินให้กู้ยืม 65,915 ล้านบาท ภาคตะวันออก มี
ผู้กู้ยืม 417,383 ราย เงินให้กู้ยืม 46,265 ล้านบาท ภาคใต้ มีผู้กู้ยืม 959,045 ราย เงินให้กู้ยืม 114,864 ล้านบาท และกรุงเทพฯและปริมณฑล มีผู้กู้ยืม 853,357 ราย เงินให้กู้ยืม 119,899 ล้านบาท

เพื่อแก้ไขปัญหาการถูกยึดทรัพย์จากการกู้เงิน กยศ. ทาง ยธ.ได้วางแผนช่วยเหลือลูกหนี้ 2.3 ล้านราย และผู้ค้ำประกันที่ได้รับผลกระทบ โดยจะแบ่งการช่วยเหลือ ดังนี้

Advertisement

ผู้กู้ที่ถูกพิพากษาแล้วอยู่ระหว่างบังคับคดี 1.2 ล้านราย ในจำนวนนี้มีหมายอยู่ที่กรมบังคับคดี 600,000 ราย แบ่งเป็น ผู้กู้ 300,000 ราย และผู้ค้ำประกัน 300,000 ราย ถ้าปล่อยดำเนินการตามกฎหมาย ผู้ค้ำประกันเหล่านี้อาจถูกยึดทรัพย์สินได้ ซึ่งทางกรมบังคับคดีจะไม่ดำเนินการฟ้อง เพื่อไม่ให้ผู้ค้ำประกันถูกยึดทรัพย์สิน ส่วนผู้กู้ที่ถูกศาลพิพากษาและอยู่ระหว่างบังคับคดี 900,000 ราย จะไม่ออกหมายบังคับคดี และเข้าไปช่วยเหลือ โดยเร่งรัดผู้กู้เหล่านี้มาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สิน ส่วนผู้กู้ที่ผิดนัดแต่ยังไม่ถูกฟ้อง 1.1 ล้านราย ทางคณะกรรมการประสานงานจะนัดมาไกล่เกลี่ยหนี้สินต่อไป

“รัฐมนตรีว่าการ ยธ.ต้องการให้คณะกรรมการประสานงานเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ.โดยเร็ว จากนี้คณะกรรมการประสานงานจะนัดผู้กู้ ให้ผู้กู้มาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยมีกรมบังคับคดีเข้ามาเป็นตัวกลาง ซึ่งการไกล่เกลี่ยหนี้สินจะต้องทำตามกฎหมายของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ขณะนี้คณะกรรมการประสานงานมีข้อมูลผู้กู้ และผู้ค้ำประกันทั้งหมดแล้ว จะเริ่มส่งจดหมายให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้” นายวิวรรธนไชยกล่าว

นายวิวรรธนไชยยังแย้มข่าวดีมาว่า ช่วงกลางเดือนมกราคม 2565 ทาง ยธ.จะจัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สินช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ.และสถาบันการเงิน” ซึ่งมหกรรมนี้จะเริ่มที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นที่แรก โดยจะเริ่มเชิญผู้กู้และผู้ค้ำประกัน 40,000 ราย มาไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อไม่ให้ผู้กู้และผู้ค้ำต้องเสียเวลาขึ้นศาล

“ผู้กู้ กยศ.ที่เข้าร่วมโครงการจะไม่ถูกฟ้อง และไม่ถูกยึดทรัพย์สิน ขอให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ผู้กู้ กยศ.ที่เข้าร่วมโครงการจะได้ลดจำนวนเงินผ่อน พร้อมขยายระยะเวลาผ่อน ลดจำนวนเบี้ยปรับ” นายวิวรรธนไชยระบุ

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการ ยธ.ได้เสนอว่า หากผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านราย ทั้งที่ถูกฟ้องและยังไม่ถูกฟ้อง หากเข้ามาร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยจะถูกปลดจากการเป็นผู้ค้ำประกัน ดังนั้น ขอให้ผู้กู้ กยศ.และผู้ค้ำประกันสบายใจ เพราะ ยธ.จะเร่งช่วยเหลือให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าว่าภายใน 180 วัน จะกระจายจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยครอบคลุมทั่วประเทศ

หวังว่าแนวทางที่ ยธ.ดำเนินการอยู่นี้จะเป็น “ข่าวดี” ให้ทั้ง “ผู้กู้” และ “ผู้ค้ำประกัน” มีทางออก ปลดหนี้ ปลดสิน ปลดภาระทางการเงินที่มีอยู่ในเบาบางลง และเบาใจได้ว่าหากเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้แล้ว จะไม่ต้องเครียดกับการถูกฟ้องให้จ่ายหนี้สินก้อนโต หรือถูกยึดทรัพย์อีก โดยเฉพาะผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน ถือเป็นข่าวดีคูณสอง ที่จะหมดความกังวลเสียที…

ต้องจับตาดูต่อไปว่าการจะมหกรรมไกล่เกลี่ยที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ ยธ.จะสามารถช่วยเหลือผู้กู้ และผู้ค้ำประกันเงินกู้กองทุน กยศ.ได้มากน้อยแค่ไหน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image