จี้เลิกเอ็นทรานซ์ฟันน้ำนมทุกสังกัด นักวิชาการหนุนบังคับ ร.ร. ‘อนุบาล-ป.1’ ใช้ทั่ว ปท.

จี้เลิกเอ็นทรานซ์ฟันน้ำนมทุกสังกัด นักวิชาการหนุนบังคับ ร.ร. ‘อนุบาล-ป.1’ ใช้ทั่ว ปท. ‘ศุภเสฏฐ์’ ชี้ ‘เอกชน’ ปรับ ‘สัมภาษณ์’ แทนสอบแล้ว

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า กรณีที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่มีนายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธาน มีมติยกเลิกการสอบข้อเขียน ในการรับนักเรียนระดับชั้นอนุบาล และประถมศึกษา ของสถานศึกษาในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยให้อำนาจคณะกรรมการสถานศึกษาพิจารณาแนวทางการรับเข้าเรียน ซึ่งอาจใช้วิธีจับสลาก หรือใช้แนวทางอื่น ตามแต่ที่สถานศึกษากำหนดนั้น เป็นเรื่องที่ดี สนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ตนได้ยินมาตรการยกเลิกสอบข้อเขียนเข้าระดับชั้นอนุบาล และประถมศึกษา มา 4-5 ครั้งแล้ว ดังนั้น ครั้งนี้ขอให้บังคับใช้ได้จริงทั้งประเทศ และควรบังคับใช้ในทุกสังกัด โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนสาธิต และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกาเอกชน (สช.) มองว่าหากทำได้จริง จะเป็นคุณูปการต่อเด็ก และผู้ปกครองทั่วประเทศ

“ผมมองว่าการสอบเอ็นทรานซ์ฟันน้ำนมควรเลิกไปได้แล้ว เพราะสร้างความเครียดให้กับเด็ก และผู้ปกครองจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิเด็กอย่างรุนแรง แทนที่เด็กจะได้เรียนปนเล่น มีพัฒนาการตามช่วงวัยที่เหมาะสม กลับถูกบังคับให้มานั่งเรียนพิเศษ นั่งกวดวิชา และต้องมานั่งสอบภายใต้ความกดดันของผู้ปกครอง ว่าเด็กต้องสอบเข้าโรงเรียนที่ผู้ปกครองหวังให้ได้ ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างมาก ที่จะให้เด็กได้ใช้ชีวิตแบบนี้ ปัญหาการสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 นั้น เกิดจากค่านิยมในชื่อเสียงของโรงเรียน ทำให้ผู้ปกครองอยากให้ลูกหลานเรียนโรงเรียนเหล่านี้ ซึ่งผมมองว่าค่านิยมเหล่านี้ควรเลิกไปได้แล้ว” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า โรงเรียนเอกชนปรับเปลี่ยนการสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 มา 2-3 ปีแล้ว จากเดิมที่เป็นรูปแบบสอบ กลายมาเป็นสัมภาษณ์ผู้ปกครอง และเด็ก พร้อมกับดูพฤติกรรม ดูความพร้อมของเด็กแทน ส่วนโรงเรียนเอกชนที่เปิดห้องเรียนพิเศษ เช่น ห้อง English Program (EP) โรงเรียนจะไม่ใช้สอบข้อเขียน แต่จะเปลี่ยนเป็นดูความพร้อมของเด็กในด้านต่างๆ เช่น ด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา และสัมภาษณ์เด็กเป็นกรณีไป

“เป้าหมายการปรับไม่ให้มีการสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 เพื่อลดความเครียดของเด็ก และผู้ปกครอง โดยเฉพาะลดความคาดหวังของผู้ปกครอง ซึ่งหลังจากที่โรงเรียนเอกชนปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับนักเรียนชั้น ป.1ใหม่ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ปกครองไม่มีความเครียด ไม่คาดหวังมาก และทำให้นักเรียนมีความสุขจากการเรียนในทุกวัน” ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image