‘ตรีนุช’ ห่วงเด็กช่างเลียนแบบ ‘4 คิงส์’ สั่งทุก ‘ว.’ ประสาน ตร.ป้องกัน ปธ.อาชีวะ ห่วงมือที่ 3-ศิษย์เก่า ปลุกระดม

‘ตรีนุช’ ห่วงเด็กช่างเลียนแบบ ‘4 คิงส์’ สั่งทุกวิทยาลัยประสาน ตร.ในพื้นที่ป้องกัน ด้านประธานอาชีวะ กทม.ประสาน บช.น.ตั้งจุดเฝ้าระวัง หวั่นมือที่สาม-ศิษย์เก่า ปลุกระดม

น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า กรณีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “4 คิงส์ อาชีวะยุค 90’s” ซึ่งมีเนื้อหาที่สะท้อนปัญหาสังคมวัยรุ่นในยุค 90’s ที่มีเด็กช่างยกพวกตีกันจำนวนมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และทำให้นักเรียนอาชีวะยกพวกตีกันในหลายพื้นที่นั้น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นห่วงอย่างมาก สั่งการให้นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมมอบหมายให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาทุกแห่ง ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเข้าไปแนะนำ ให้คำปรึกษา เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ แต่มีคำถามว่า หากหนังดีจริง ทำไมหลังจากหนังฉายแล้ว จึงมีเหตุการณ์เด็กตีกันเกิดขึ้นหลายแห่ง ทั้งนี้ ไม่อยากให้โทษเด็ก เพราะเด็กถือเป็นผ้าขาว ดังนั้น อยากให้ผู้สร้างหนังนำเสนอสิ่งที่สร้างสรรค์ สร้างความเข้าใจกับการเรียนสายอาชีพใหม่ เพราะขณะนี้ตลาดแรงงานของประเทศ ต้องการผู้เรียนสายอาชีพเข้ามาทำงานจำนวนมาก ทำให้ผู้เรียนสายอาชีพจบไป มีงานทำที่มั่นคง และได้รายได้ดีอย่างแน่นอน” น.ส.อรพินทร์กล่าว

ด้านนายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ในฐานะประธานกรรมการอาชีวศึกษากรุงเทพ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ขอความร่วมมือส่งตำรวจทั้งใน และนอกเครื่องแบบ เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยง เช่น หน้าโรงหนัง ห้างสรรพสินค้า จุดจอดรถ เป็นต้น ซึ่งทาง บช.น.สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 88 สน.สำรวจพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุยกพวกตีกันทั่วกรุงเทพฯ แล้ว นอกจากนี้ จะมีอาจารย์ฝ่ายของแต่ละสถาบันมาร่วมเฝ้าระวังด้วย

นายทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากที่ดูหนังเรื่องดังกล่าวมา 2 รอบ พบว่า เนื้อหาไม่รุนแรง มีฉากทะเลาะวิวาท 2-3 ฉาก ซึ่งหนังเล่าเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาชีวิต สะท้อนสังคม สะท้อนปัญหาครอบครัว มีข้อคิด มีอุทาหรณ์ แสดงให้เห็นว่าถ้าใครไม่เคารพกฎหมาย จะมีจุดจบอย่างไร ซึ่งในภาพรวมของหนัง มองว่าไม่มีอะไรน่าห่วง คิดว่าผู้กำกับมีเจตนาที่ดี และน่าชื่นชม เพราะต้องการสะท้อนปัญหาสังคม และให้ข้อคิดในการใช้ชีวิต

Advertisement

“แต่ที่เป็นห่วงจนต้องตั้งจุดเฝ้าระวัง เพราะกลัวว่าจะมีมือที่สาม หรืออาจจะมีศิษย์เก่ามาปลุกระดมให้ผู้เรียนก่อเหตุรุนแรงขึ้น จากการติดตามสถานการณ์ และดูกระแสของสังคม พบว่ามีเด็กที่ไม่ใช่เด็กอาชีวะ ก็ก่อเหตุรุนแรงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เข้าไปริดรอนสิทธิของเด็ก ทุกคนยังสามารถเข้าไปดูหนังได้ ไม่มีการตรวจบัตรประชาชน แต่การตั้งจุดเฝ้าระวัง เพราะต้องการให้เกิดความเรียบร้อย ไม่ทำให้เสียภาพลักษณ์เท่านั้น” นายทวีศักดิ์ กล่าว

นายทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขอให้ผู้ปกครองให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ว่ามีสิ่งไหนที่ควรทำตาม และสิ่งไหนที่ไม่ควรทำตามบ้าง เพราะเหตุการณ์ในหนังเรื่องดังกล่าว สามารถนำเป็นอุทาหรณ์สอนเด็กได้ เบื้องต้นทุกหน่วยงานจะตั้งจุดเฝ้าระวังทุกวัน และจะประเมินสถานการณ์ทุกสัปดาห์ว่าเกิดเหตุรุนแรงหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image