มติชนมติครู : ยังมีหรือไม่..วิชาที่ไม่จำเป็นในโรงเรียน?

มติชนมติครู : ยังมีหรือไม่..วิชาที่ไม่จำเป็นในโรงเรียน?

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษาฝึกประสบการณ์สอนวิชาชีพครู ผู้ก่อตั้งเพจ “ครูโชว์ของ” ทางเฟซบุ๊ก จำนวน 4 คน และผู้เข้าร่วมสนทนาที่จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์อีก 1 คน รวมผมด้วยเป็น 6 คนพอดี เราใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

โดยหัวข้อหลักในวันนั้นก็คือ “ยังมีหรือไม่วิชาที่ไม่จำเป็นในโรงเรียน?” ผมเห็นว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาไทยในปัจจุบัน จึงขอสรุปประเด็นเฉพาะในส่วนที่ผมพูดในวันนั้นเพื่อเผยแพร่พอสังเขปดังนี้

น้องดรีม ชัยวัฒน์ (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ซึ่งทำหน้าที่เป็นพิธีกร และผู้นำการสนทนาในวันนั้น ตั้งคำถามแรกกับผู้ร่วมสนทนาว่า “ณ เวลานี้มองการศึกษาไทยเป็นอย่างไรบ้าง?” ผมเห็นว่าการศึกษาไทยทุกวันนี้เป็นการศึกษาของรัฐราชการที่รวมศูนย์มากเกินไป ระบบการบริหารจากบนลงล่าง (top – down) ทำให้การศึกษาไทยล้มเหลว นโยบายการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และขาดความต่อเนื่อง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่ตลอด ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2554-2564) เรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง 10 คน เฉลี่ยปีละ 1 คน ทำให้นโยบายด้านการศึกษาของไทยเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐมนตรีแต่ละท่าน

อีกประการหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาเรื้อรังมานานนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือกฎระเบียบที่มากเกินไป ล้าหลัง สะท้อนระบอบอำนาจนิยมในการศึกษาไทย ทำให้การศึกษาไทยปรับตัวไม่ทัน หรือไม่ยอมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ประกอบกับเนื้อหาในแต่ละรายวิชาที่มากจนเกินไป ทำให้เด็กไทยต้องใช้เวลาไปกับการเรียนเป็นอย่างมาก ไม่มีความสุขที่จะเรียน ไม่อยากเรียน เบื่อหน่าย ไปจนถึงขาดอิสระทางความคิด เพราะถูกตีกรอบโดยกฎระเบียบที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เป็นไว้หมดเรียบร้อยแล้ว

Advertisement

คำถามถัดมาที่เป็นหัวข้อสำคัญของการสนทนาในวันนั้นก็คือ “คิดว่ามีวิชาใดบ้างที่ควรมี ไม่ควรมี ควรเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก เพราะเหตุใด” ต่อคำถามนี้ ผมแบ่งคำตอบออกเป็น 3 ประเด็นย่อย คือ

หนึ่ง วิชาที่ควรมี ข้อนี้ผมคิดว่าทุกวิชามีความสำคัญเหมือนกันหมด โดยเฉพาะวิชาพื้นฐาน เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ สังคมศึกษาฯ เป็นต้น แต่ควรปรับลดเนื้อหาลง และเน้นเนื้อหาที่เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ มาตรฐาน ตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ฯลฯ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ควรลดลงด้วยเช่นกัน ผมยกตัวอย่างวิชาสังคมศึกษาฯ ที่ผมสอน มีทั้งหมด 5 สาระ คือ 1.ศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรม 2.หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิต 3.เศรษฐศาสตร์ 4.ประวัติศาสตร์ และ 5.ภูมิศาสตร์ จะเห็นได้ว่าเฉพาะวิชาสังคมศึกษาฯ วิชาเดียว เด็กต้องเรียนหมดทั้ง 5 สาระ และในแต่ละสาระนั้นมีมาตรฐาน และตัวชี้วัดที่เยอะมาก ซึ่งสำหรับผมถือว่ามากเกินไป และเกินความจำเป็น

สอง วิชาที่ไม่ควรมี ในข้อนี้ผมคิดว่าไม่มี อย่างที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ทุกวิชามีความสำคัญเหมือนกันหมด แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่าความสำคัญนั้น อาจจะแตกต่างกันไปสำหรับเด็กแต่ละคน สิ่งที่การศึกษาไทยเป็นอยู่ทุกวันนี้ คือการสร้างองค์ความรู้ หรือชุดความรู้เพียงชุดเดียว เปรียบได้กับการตัดเสื้อเพียงตัวเดียว แล้วต้องการให้เด็กสามารถใส่ได้พอดีทุกคน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ และขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences) ในทางกลับกัน ผมคิดว่าเราควรมีทางเลือก หรือตัวเลือกให้แก่เด็กได้เรียนในวิชาที่ตนเองชอบ หรือถนัดเพิ่มมากขึ้น และบังคับให้น้อยลง เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข

Advertisement

สาม วิชาที่ควรเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิก สำหรับข้อนี้ ผมเสนอว่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน (ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ นักศึกษาวิชาทหาร กิจกรรมชุมนุมหรือชมรมต่างๆ) และกิจกรรมเพื่อสังคม และสาธารณประโยชน์ ต้องปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบัน บางกิจกรรมควรเปลี่ยนเป็นกิจกรรมเลือกเสรีแทน เช่น ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด เป็นต้น บางวิชาควรเปลี่ยนเป็นวิชาเลือกเสรี หรือเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนตามที่ตนเองสนใจหรือถนัด เช่น หากเป็นวิชาพลศึกษา วิชาดนตรี หรือวิชาสังคมศึกษาฯ ก็ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนในกีฬา ดนตรี หรือสาระที่ตนเองชอบหรือสนใจ เป็นต้น

หรือถ้าหากสถานศึกษามีงบประมาณ และทรัพยากรมากพอ อาจจะเพิ่มวิชาใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ และเกิดประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ในที่นี้ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ที่มีรายวิชาที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ทันสมัย และเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนมากขึ้น เช่น วิชาภาษาอังกฤษจากภาพยนตร์ Netflix วิชาอาหารนานาชาติ วิชาการแสดงขั้นพื้นฐาน วิชาหมากกระดาน วิชา Artificial Intelligence (AI) เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน และสร้างทักษะที่เด็กสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้

ช่วงสุดท้ายของการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพวกเราทั้ง 6 คนในวันนั้น มีประเด็น และคำถามที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้เลย แต่เราอยากให้เปลี่ยน เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนั้นได้อย่างไรบ้าง? หรือถ้าการศึกษาไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันยังไม่ดี แล้วเราอยากทำให้มันดีขึ้นได้ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

ซึ่งผมเองได้เสนอความคิดเห็นในภาพรวมว่า การศึกษาไทยต้องลดความเหลื่อมล้ำลง เพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษาให้มากขึ้น รัฐบาลควรลงทุนกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มากที่สุด กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หรือชุมชน สามารถออกแบบหลักสูตร และจัดการศึกษาตามที่ต้องการ สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น หรือชุมชนนั้นๆ สอนให้เด็กตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย (แบบอารยะ ไม่ใช่แบบไทยๆ) เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันให้มากๆ และผู้ใหญ่ หรือครูอย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย ต้องเปิดใจให้มากๆ มีใจกว้างพอที่จะรับฟังเสียงของเด็ก ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอนาคต

อีกประการคือ ต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่าการศึกษาของโลกยุคเก่าแบบ Analog นั้น ไม่ตอบโจทย์กับการศึกษาในปัจจุบัน และอนาคตที่เป็นโลกของยุค Digital และ AI อีกต่อไปแล้ว ความรู้ในปัจจุบันนี้มีอยู่ทุกที่ และสามารถเข้าถึงได้เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัส เราไม่สามารถขังเด็กไว้ในกะลาครอบ หรือตีกรอบตามที่เราอยากให้เขาเป็นได้อีกต่อไป

สุดท้ายนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษาไทยจะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ สามารถสร้างเด็กในวันนี้ ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม มีศักยภาพเพียงพอในการสร้างโลกอนาคตด้วยหนึ่งสมอง และสองมือของเขาเอง

“ให้มันจบที่รุ่นเรา” นั่นแหละดีที่สุดแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image