เด็ก 1.2 ล้านหลุดระบบการศึกษา งานวิจัยพบทุก 16 ใน 100 คน ไม่ได้เรียนหนังสือ ยูนิเซฟชี้ความสามารถเด็กไทยอ่านเขียนฮวบ
นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีบทบัญญัติให้การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิ และโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิ และโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบันจากการสำรวจ ติดตาม การศึกษา และวิจัย ของหน่วยงานสำคัญต่างๆ เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสถาบันอุดมศึกษา พบว่า มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ต้องออกจากระบบการศึกษา และไม่จบการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด
นายอรรถพลกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สามารถสรุปปัญหา และสาเหตุที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้เป็นหลายๆ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กที่มีความจำเป็น หรือมีเงื่อนไขส่วนตัวบางอย่าง ที่ไม่สามารถเข้าเรียนตามระบบได้ เช่น ครอบครัวยากจน กำพร้า กลุ่มเด็กอพยพย้ายถิ่นตามผู้ปกครอง กลุ่มที่มีปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน กลุ่มที่มีปัญหาพฤติกรรม ที่ส่งผลให้ถูกพักการเรียน หรือให้ออกจากสถานศึกษา ด้วยปัญหาดังกล่าวนี้ ส่งผลให้เด็กเหล่านี้มักจะรู้สึกแปลกแยกจากสังคม ยังมีกลุ่มเด็กที่ไม่ถนัดด้านวิชาการ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น พื้นจังหวัดชายแดนใต้ เด็กที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือปัญหาที่เราทราบในปัจจุบัน ได้แก่ ระบบมาตรฐานการเรียนการสอน การแข่งขันทางการศึกษาที่สูงขึ้น ปัญหาการเรียนในชั้นเรียน เพื่อนกลั่นแกล้ง หรือบูลลี่ และการเกิดสภาวการณ์โรคระบาด เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ส่งผลให้เด็กหลายๆ คน ไม่สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ ด้วยปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน หรือทรัพยากรที่จำเป็นในการศึกษา
“ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาเด็กออกกลางคัน ยังคงมีความรุนแรงมากขึ้น และจากข้อมูลของ กสศ.พบว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีเด็กออกกลางคันมากถึง 2% จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด เมื่อนับรวมกับเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว ดังนั้น จะพบว่าในเด็กไทยทุกๆ 100 คน จะมี 16 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ นอกจากนี้ จากรายงานวิจัยของยูนิเซฟ พบว่า ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทย มีแนวโน้มลดลงกว่า 30% ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อทางเลือกในการดำเนินชีวิต การทำงาน ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวในอนาคตของเด็กกลุ่มนี้” นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพลกล่าวต่อว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงสั่งการให้หน่วยงานในกำกับ ศธ.เร่งแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบ หรือปัญหาเด็กออกกลางคันโดยเร่งด่วนอย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของ สกศ.ซึ่งทำหน้าที่เข็มทิศของประเทศด้านการศึกษา ได้ดำเนินการติดตาม และวิจัยด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง และได้จัดทำโมเดลการศึกษาข้ามภูมิภาค Trans-Regional Education (TRE) ในทุกระดับชั้น เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการศึกษาทางเลือกที่มีคุณภาพ ให้กับผู้เรียนเมื่อพร้อมจะเข้าศึกษา โดยเรียนในรูปแบบโมดูล (Module) เป็นรายวิชา เมื่อจบวิชานั้นๆ แล้ว ก็เก็บสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือธนาคารหน่วยกิต ที่สามารถเรียนเมื่อมีความพร้อม และนำประสบการณ์จากการทำงาน มาเทียบเป็นหน่วยกิตของรายวิชา และสะสมหน่วยกิตไว้กับธนาคารหน่วยกิต ซึ่งสามารถเรียนจบที่สถานศึกษาไหนก็ได้ทั่วประเทศ ขณะนี้อยู่ในระหว่างเลือกสถานศึกษาที่จะเป็นแพตล์ฟร์อม TRE ที่ให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ง่ายขึ้น