‘สอศ.’ วุ่นขาดแม่พิมพ์กว่า1.7หมื่นอัตรา เหตุ’ก.ค.ศ.’กำหนดอัตราครูต่อน.ร.ใหม่

‘สอศ.’ วุ่นขาดแม่พิมพ์กว่า1.7หมื่นอัตรา เหตุ’ก.ค.ศ.’กำหนดอัตราครูต่อน.ร.ใหม่ ‘สุเทพ’ลั่นทำไม่ได้-เล็งขอเพิ่มงบจ้างสอน

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน โดยจากการสำรวจตัวเลขล่าสุด วิทยาลัยต่าง ๆ มีปัญหาขาดครูมากกว่า 17,700 คน ซึ่งที่ผ่านมาสถานศึกษาแก้ปัญหาโดยใช้เงินรายได้จ้างครูอัตราจ้างมาสอน ดังนั้นตนจึงได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับทราบ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอใช้งบกลางเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาจ้างครูอัตราจ้าง กว่า 8,000 อัตรา ขณะเดียวกันก็ขอตั้งงบปี2566 เพื่อจัดจ้างครูต่อไป นอกจากนี้ สอศ.ยังได้เสนอให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณากำหนดอัตรากำลังครูตามความขาดแคลนของสถานศึกษา ซึ่งเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ เพื่อให้สถานศึกษานำเงินรายได้ไปจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องมารับภาระเรื่องการจ้างครูอีกต่อไป

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่สอศ.ขาดแคลนครู เนื่องจาก ก.ค.ศ.กำหนดอัตราส่วนครูต่อนักเรียนใหม่แล้วใช้กับสถานศึกษาทุกสังกัด ดังนี้ นักเรียน 1-40 คน จะมีครูขั้นต่ำ 1-4 คน นักเรียน 41-80 จะมีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน ครู 6 คน นักเรียน 81-119 คน มีผู้อำนวยโรงเรียน 1 คน ครู 8 คน นักเรียน 120-359 มีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน ซึ่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องรับภาระงานสอนด้วย นักเรียน 360-719 คน มีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน นักเรียน 720-1,079 คน มีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 2 คน นักเรียน 1,080-1,679 คน มีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 3 คน และนักเรียน 1,680 ขึ้นไป มีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 4 คน ทั้งนี้ ในโรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า 120 คน ให้ใช้สูตรคำนวณอัตรากำลังของครูดังนี้ จำนวนห้องเรียนแต่ละระดับชั้น คูณกับ ชั่วโมงเรียนตามหลักสูตรต่อสัปดาห์ หารกับ ชั่วโมงสอนของครูหนึ่งคนต่อสัปดาห์ (20 ชั่วโมง)

“ในทางปฏิบัติ สอศ.ไม่สามารถใช้สัดส่วนดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเรียนสายวิชาชีพที่จะต้องจ้างครูเฉพาะทาง ที่มีความหลากหลายโดยขณะนี้พบว่าสอศ.ขาดแคลนครูในทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นช่างกล ช่างยนต์ ฯลฯ โดยการแก้ไขปัญหาระยะยาวคงต้องขอกำหนดอัตราสัดส่วนนักเรียนต่อครูใหม่ หรืออีกวิธีคือใช้บุคลากรจากสถานประกอบการมาเป็นวิทยากรพิเศษ และเน้นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี โดยส่งเด็กไปเรียนรู้ในสถานประกอบการซึ่งจะสามารถช่วยลดการขาดแคลนบุคลากรและเด็กยังได้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยด้วย” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ส่วนการเตรียมพร้อมรับนักเรียน นักศึกษา สังกัดสอศ. ปีการศึกษา 2565 นั้นขณะนี้วิทยาลัยต่าง ๆ ได้ออกไปแนะแนวเชิญชวนนักเรียนให้มาเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับทำหนังสือประสานไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาและโรงเรียนขยายโอกาสเพื่อแนะแนวการเรียนต่อและให้โควต้าแก่นักเรียนของโรงเรียนต่างๆ ส่วนปฏิทินการรับนักเรียน นักศึกษานั้นขณะนี้ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าจะประกาศรับสมัครในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ทั้งทางออนไลน์และออนไซต์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image