ว.การบินฯ มธบ.จับมือพันธมิตร เปิดชมรมการบิน ปทท. ‘ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้-วิจัย’

ว.การบินฯ มธบ.จับมือพันธมิตร เปิดชมรมการบินประเทศไทย เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้-วิจัย-แหล่งหางานบัณฑิตจบใหม่

น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ในฐานะเลขาธิการชมรมสถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการบินประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ CADT ร่วมกับมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาที่จัดสอนทางด้านการบิน รวมถึง องค์กรด้านการบิน และบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน เปิดชมรม “สถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการบินประเทศไทย” โดยมีนายสมชาย พิพุธวัฒน์ เป็นประธานชมรม เพื่อสร้างให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ค้นคว้างานวิจัย และแหล่งค้นหางานด้านอุตสาหกรรมการบินแห่งแรกของไทย ซึ่งในการประชุมนัดแรก ได้พูดคุยถึงประเด็นที่เป็นปัญหาในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึง การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละสถาบัน และการจัดหลักสูตรฝึกอบรมอบรมต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการหางานรองรับให้นักศึกษาจบใหม่ด้วย

น.ต.ดร.วัฒนากล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคการศึกษา CADT ได้ปรับหลักสูตรปริญญาตรี เมื่อปี 2563 โดยหลักสูตรที่ปรับส่วนใหญ่ สอดรับกับมาตรการของอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การให้บริการบนเครื่องบินต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านการบิน และเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ สถาบันการบิน มธบ.ยังจัดทำหลักสูตรเพิ่มเติมตามความต้องการของบุคลากรในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งได้รับอนุมัติให้จัดหลักสูตรอย่างเป็นทางการจาก The International Air Transport Association (IATA) จำนวน 4 หลักสูตร คือ 1.การบริการบนเครื่องบิน 2.การปฏิบัติการในท่าอากาศยาน 3.ความปลอดภัยทางด้านการบิน และ 4.ความตระหนักเรื่องการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน ทั้ง 4 หลักสูตรจะจัดอบรม และเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนก่อนสอบ และจัดสอบเพื่อให้ได้ใบรับรองผ่านการอบรม หรือใบประกาศนียบัตรจาก IATA

“ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา วิทยาลัยไม่สามารถจัดการเรียน Onsite ได้ แต่ยังเรียนแบบออนไลน์ และมีกิจกรรมจัดอบรมหลักสูตรออนไลน์ให้แก่บุคลากรทางด้านการบินอยู่เสมอ เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น นักศึกษากลับมาเรียนได้ตามปกติ การฝึกบินด้วยเครื่องบินจำลองที่เป็นจุดเด่นของวิทยาลัย สามารถนำไปต่อยอดในวิชาเลือกเสรี เพื่อให้นักศึกษาคณะอื่นได้มีโอกาสฝึกบินด้วย” น.ต.ดร.วัฒนา กล่าว

น.ต.ดร.วัฒนากล่าวอีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการบินได้รับผลกระทบ รวมถึง ภาคการศึกษา ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากผู้ปกครองอาจขาดความเชื่อมั่นในสายอาชีพนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการบินและการขนส่งผู้โดยสาร ที่เชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้โดยรอบ จึงมั่นใจว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวเร็วๆ นี้แน่นอน นอกจากนี้ IATA ยังได้พยากรณ์ไว้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึง อุตสาหกรรมการบิน จะกลับมาคึกคักในปี 2567 ช่วงเวลานั้น ความต้องการแรงงานน่าจะมีมากขึ้น ที่สำคัญโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นเมืองการบิน และเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน ซึ่งอนาคตอาจเป็นศูนย์ซ่อมแห่งอาเซียน จึงทำให้ธุรกิจทุกภาคส่วนรวมอยู่ในสนามบินดังกล่าว และบริเวณใกล้เคียง ส่วนการเปิดให้บริการ คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2568 ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักศึกษาจบใหม่ เพราะมีตำแหน่งงานที่ต้องการกว่า 3,000 ตำแหน่ง

Advertisement

น.ต.ดร.วัฒนากล่าวต่อว่า ภาคแรงงานในอุตสาหกรรมการบิน นอกจากตำแหน่งงานหลักๆ ที่เป็นที่รู้จักแล้ว อาทิ นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ เป็นต้น ยังมีตำแหน่งงานอีกมากมาย ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้กำหนดคุณวุฒิวิชาชีพทางด้านการบิน 53 สาขาอาชีพ เช่น สาขาบริการภาคพื้นและสนับสนุนการบินภาคพื้นในอาคาร สาขางานเทคนิคและฝึกอบรมอาชีพผู้ฝึกด้านระบบการจัดการความปลอดภัย พนักงานสำรองบัตรโดยสาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งงานกว่า 2.2 ล้านตำแหน่ง ที่ถูกเลิกจ้างไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ บางส่วนเปลี่ยนอาชีพ และไม่กลับมาทำงานด้านการบิน ดังนั้น ตำแหน่งงานว่างที่เหลือ จะเป็นของนักศึกษารุ่นใหม่ที่จบออกไป มั่นใจว่าอีก 4 ปีข้างหน้า นักศึกษากลุ่มนี้จะมีงานรองรับอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image