มติชนมติครู : การศึกษา..สู่ฉากทัศน์ใหม่ ‘เรียนรู้’ รูปแบบ ‘ผสมผสาน’

มติชนมติครู : การศึกษา..สู่ฉากทัศน์ใหม่ ‘เรียนรู้’ รูปแบบ ‘ผสมผสาน’

เข้าสู่ศักราชใหม่ ความคาดหวังจะหลุดพ้น เพื่อเริ่มต้นให้กับความสดใสหลังชีวิตผ่านพ้นไปกับปีที่หนักหนามาพอสมควร ความบอบช้ำจากโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของภาคการศึกษา ทิ้งไว้ทั้งปัญหา และโอกาส หากมองดูแล้วก็ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ ว่าสถานการณ์นี้จะจบลงเมื่อไหร่ งานนี้ภาคการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร อักษร เอ็ดดูเคชั่น ขอพาย้อนไปดูเส้นทางการศึกษาตลอดปีที่ผ่านมา

ภาพรวมสถานการณ์การศึกษาไทย ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับ สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แจงถึงตัวเลขสถิติทางด้านการศึกษาหลายประเด็นที่น่าสนใจ ตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลให้กับกระทรวงศึกษาธิการ สูงสุดในรอบ 22 ปี คิดเป็นร้อยละ 11.5-25.7 ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด สวนทางกับผลคะแนนจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล หรือ PISA ในปี พ.ศ.2561 ที่นักเรียนไทยยังทำได้ไม่ดีนัก โดยมีคะแนนด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ อยู่ในลำดับที่ 68, 59 และ 55 ตามลำดับจาก 79 ประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน

 

นั่นก็อาจแปลความได้ว่า รัฐบาลตระหนัก และให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับ “ระบบการศึกษาไทย” ที่มีความท้าทายในหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา และแหล่งความรู้ที่มีคุณภาพ จำนวนนักเรียนที่ลดลง ค่านิยมต่อการศึกษา รวมไปถึงหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะแห่งอนาคต ที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเอง และตลาดแรงงาน

Advertisement

สิ่งเหล่านี้สร้างทั้งความกดดัน และเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ในแวดวงการศึกษา ทั้งรูปแบบ และแหล่งการเรียนรู้ แม้คนไทยจะหันมาใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ.2563 ชี้ให้เห็นว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงความบันเทิง และการสื่อสารทางไกลเป็นหลัก มีเพียงร้อยละ 31.6 ที่ใช้เพื่อการติดตามข่าวสารความรู้ และร้อยละ 7.4 ใช้เพื่อการเรียนผ่านออนไลน์

นอกจากนั้น ยังเกิดกระแสจากบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังข้ามชาติหลายแห่งอย่าง Google Apple Amazon ที่ประกาศนโยบายการรับสมัครคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน โดยมุ่งพิจารณาจากทักษะ และประสบการณ์การทำงานมากกว่าการใช้วุฒิการศึกษา หรือใบปริญญาบัตร เกิดสัญญาณการเปลี่ยนแปลง และความตื่นตัว ในการตั้งคำถามถึงความสำคัญ และคุณค่าของวุฒิการศึกษา รวมไปถึงชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาด้วย

ทั้งหมดนี้ สร้างกระบวนการการเรียนรู้ และสื่อในรูปแบบใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ขยายขีดความสามารถให้กับทั้งผู้เรียน และผู้สอน ส่งเสริมการ Upskill และ Reskill รวมไปถึงการเรียนรู้ที่ตรงกับความสนใจ และความสามารถของผู้เรียนจนเกิดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การปรับรูปแบบการเรียนรู้ไปสู่การเรียนแบบผสมผสาน ความปั่นป่วนของการพยายามสร้างความสมดุลย์ และปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเลื่อนการเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ถึง 2 ครั้ง แต่ดูจากสถานการณ์ที่ยากจะควบคุม จึงต้องคิดหารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อ พร้อมขึ้นนโยบายให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ปรับเปลี่ยนการสอนให้อยู่ในรูปแบบผสมผสาน หรือ Blended Learning ระหว่างการใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางไกล ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ และรูปแบบการเรียนในห้องเรียน ภายใต้การเรียนรู้ในรูปแบบ 5 on ได้แก่ on site, on air (DLTV), on demand, online และ on hand

โดยกระทรวงศึกษาธิการยังได้จัดทำเว็บไซต์ “ครูพร้อม” ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้ามาร่วมจับมือสนับสนุนโดย บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชัน จำกัด (มหาชน) ยังได้เข้าร่วม และพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ภายใต้ชื่อ Aksorn On-Learn สนับสนุนการเรียนการสอนของครู และนักเรียนด้วยสื่อดิจิทัล อาทิ คลิปวิดีโอ e-Book สื่อ Interactive 3D สื่อ Interactive Software ไฟล์เสียงประกอบการสอน สไลด์ประกอบการสอน ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระฯ ซึ่งมีผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 85,000 คน

ส่งผลให้ คำค้นด้านการศึกษา ที่มาแรงติด 1 ใน 5 อันดับ Search ของปีนี้ จากหลายปีที่ผ่านมา พบว่ามีเพียงคำว่า DLTV ที่จัดอยู่ในคำค้นทางด้านการศึกษาติดอันดับคำค้นยอดนิยมใน Google Search ซึ่งในปีนี้คำว่า SGS (Secondary Grading System) ถูกจัดให้ติดอยู่ในคำค้นยอดนิยมอันดับ 5 เป็นระบบการประเมินผลการเรียนรูปแบบใหม่ของโรงเรียนกลุ่มมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ภายใต้สังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะใช้ระบบเดียวกันทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวัดและประเมินผลการเรียน สามารถประเมินผลผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ที่เว็บไซต์ https://sgs.bopp-obec.info ช่วยทำให้ระบบการประเมินผลมีความรวดเร็ว ทันสมัย ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ส่งผลให้ครู และนักเรียนทั่วประเทศต้องปรับตัวอย่างมากในการใช้ระบบการประเมินผลรูปแบบใหม่

ขณะที่ หลักสูตรฐานสมรรถนะ นำร่องทดลองใช้ ป.1-ป.3 เกิดกระแสวิพากษ์ไปทั่ว เมื่อกระทรวงศึกษาธิการกำหนดแผนปฏิบัติการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่มีความแตกต่างจากหลักสูตรเดิมในสาระสำคัญหลายตัว อาทิ ลดเวลาเรียน และกลุ่มสาระการเรียนรู้ลงในบางระดับชั้น ปลดล็อกตัวชี้วัดการเรียนรู้ ปรับปรุงฐานการเรียนรู้สมรรถนะใหม่ โดยมีแผนใช้จริงในปีการศึกษา 2565 กับโรงเรียนประถมศึกษาที่มีความพร้อม และวางกรอบการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะครอบคลุมทุกโรงเรียน ทั้งในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในปีการศึกษา 2567 นำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

แต่เกิดกระแสถึงความไม่พร้อม ทั้งในแวดวงนักการศึกษา นักวิชาการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าหลักสูตรยังขาดความชัดเจน และขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ปฏิบัติงานจริง จนต้องกลับมาทบทวน ชะลอ และเลื่อนการนำร่องทดลองออกไป

ปิดท้ายฉากทัศน์ใหม่ และสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง เพราะโลกหมุนไป การศึกษาไทยต้องหมุนตาม ฉากทัศน์หน้าใหม่ของการศึกษา เราฝันเห็นเด็กไทยมุ่งไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Never-ending learning) เรียนรู้จากที่ใด เวลาใดก็ได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจ เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข ได้เรียน และค้นพบในสิ่งที่ตนเองสนใจ จนเกิดเป็นทักษะที่ต้องการ และมีตลาดแรงงานรองรับ

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความสำคัญของการผสมผสานการเรียนรู้ไปพร้อมกับการใช้ชีวิตเป้าหมายทางไกล ก็คือเพื่อให้เด็กๆ ของเราวันนี้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ที่เรียกได้ว่า “พลเมืองของโลก” อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image