ผอ.พศ.เปิด 7 ข้อ ‘ห้ามบวช’ ชี้เคส ส.ต.ต.นรวิชญ์ ขาดคุณสมบัติหรือไม่

ผอ.พศ.เปิด 7 ข้อ ‘ห้ามบวช’ ชี้เคส ส.ต.ต.นรวิชญ์ ขาดคุณสมบัติหรือไม่

จากกรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) ขี่บิ๊กไบค์ ดูคาติ ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ต่อมา ส.ต.ต.นรวิชญ์ และ ร.ต.ต.นิคม บัวดก ผบ.หมู่จราจร สน.ปทุมวัน บิดาผู้ต้องหา เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดปริวาสราชสงคราม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับหมอกระต่าย ซึ่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่าทำได้หรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ตามกฎมหาเถรสมาคม (มส.) ฉบับที่ 17 พ.ศ.2536 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ มส.ได้กำหนดลักษณะของคนที่ต้องห้ามให้งดเว้นจากการบรรพชาอุปสมบทไว้ในข้อ 14 ว่า พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่านี้ 1.คนทำผิดหลบหนีคดีอาญาแผ่นดิน 2.คนหลบหนีราชการ 3.คนต้องหาในคดีอาญา 4.คนถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ 5.คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระพุทธศาสนา 6.คนเป็นโรคติดต่อ เป็นที่น่ารังเกียจ อาทิ วัณโรคในระยะอันตราย และ 7.คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

นายสิปป์บวรกล่าวอีกว่า ดังนั้น กรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาขับรถชนคนจนเสียชีวิต จึงถือว่าอยู่ในกลุ่มคนต้องห้าม ไม่สามารถบวชได้ กรณีพระอุปัชฌาย์บวชให้ทั้งที่รู้ว่าเป็นบุคคลต้องห้าม จะมีความผิด ผู้บังคับบัญชาอาจสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ แต่ไม่ถึงขั้นอาบัติ เพราะถือว่าทำความผิดในฐานะพระอุปัชฌาย์ ส่วนกรณีที่พระอุปัชฌาย์ไม่รู้ว่าต้องโทษแล้วหนีมาบวช ตรงนี้พระอุปัชฌาย์จะไม่มีความผิด แต่เมื่อรู้แล้วจะต้องให้ลาสิกขา

“กรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ ที่ต้องคดีอยู่ ถือเป็นบุคคลต้องห้ามจากการอุปสมบท พระอุปัชฌาย์ต้องให้ลาสิกขา พ้นจากความเป็นสงฆ์ทันที ที่ผ่านมามีผู้ที่หนีคดีแล้วมาบวชค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่พระอุปัชฌาย์ไม่ทราบ พอทราบก็ให้ลาสิกขาทันที การที่หนีคดีแล้วมาบวช ไม่ใช่ว่าจะพ้นผิด บางคนอยากบวชเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ถูกกระทำ ซึ่งตรงนี้อยากบอกว่าในฐานะชาวพุทธ ต้องเข้าใจว่ากระทำความผิดระดับใด ไม่สามารถไปบวชได้ แม้จะสำนึกผิด และอยากใช้ศาสนาเป็นที่พึ่ง แต่ขอให้รับโทษทางกฎหมายให้จบก่อน เมื่อรับโทษจบแล้ว อยากจะสร้างบุญให้กับผู้ที่ถูกกระทำ สามารถไปบวชทีหลังได้ ตรงนี้ต้องเข้าใจ และลำดับขั้นตอนให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด” นายสิปป์บวรกล่าว

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image