สัตวแพทย์ จุฬาฯ ไขรหัสพันธุกรรมเชื้อดื้อยาในสัตว์

สัตวแพทย์ จุฬาฯ ไขรหัสพันธุกรรมเชื้อดื้อยาในสัตว์ ชี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม แนะวิธีแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมภายใต้แนวคิด ‘สุขภาพหนึ่งเดียว’

ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น หัวหน้าภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า เชื้อดื้อยา เป็นภัยเงียบที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าคร่าชีวิตประชากรโลกถึงปีละ 700,000 คน หากไม่เร่งแก้ไข คาดว่าอีก 30 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอาจสูงถึงปีละหนึ่งล้านคนทั่วโลก สำหรับไทย การศึกษาเบื้องต้นพบว่าการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา มีสถิติสูงถึงปีละประมาณ 30,000 คน การเร่งหาแนวทางรับมือกับปัญหาเชื้อดื้อยา จึงจำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาสาธารณสุขในวันหน้า

“ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งเดียวที่เชื่อมโยงทั้งสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม หากไม่ทำอะไรเลย หรือไม่ลงมือแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในตอนนี้ ก็เป็นไปได้ที่จะไม่มียาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคติดเชื้อในอนาคต ไม่ว่าจะโรคติดเชื้อในคน หรือในสัตว์” ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ กล่าว

ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์กล่าวอีกว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภค ทั้งปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ เพื่อรักษา และป้องกันการติดเชื้อ และเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ แต่ปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผล ทุกครั้งที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะจะเปิดโอกาสให้เชื้อพัฒนาการดื้อยา และแพร่กระจายยีนดื้อยาได้ ในฟาร์มปศุสัตว์มีการใช้ยาปฏิชีวนะเช่นกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้บริโภคอาจได้รับเชื้อดื้อยาผ่านห่วงโซ่อาหาร จากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อน หรือจากการสัมผัสโดยตรงซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่า รวมทั้ง สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อาจปนเปื้อนเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน เชื้อดื้อยาไม่ว่าจะอยู่ในคน สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม ย่อมส่งผลกระทบถึงกันหมด

“เราศึกษาเชื้อดื้อยาในระดับ genome และนำเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรม มาใช้ในการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยา และกลไกการดื้อยา ทำให้เข้าใจแหล่งที่มา ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม และการถ่ายทอดพันธุกรรมของเชื้อดื้อยามากขึ้น ซึ่งข้อมูลกลไกการดื้อยา สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาโมเลกุล หรือยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ รวมทั้ง สารทดแทนยาปฏิชีวนะได้อีกด้วย” ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ กล่าว

Advertisement

ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ กล่าวอีกว่า ผลการวิจัยจากการวิเคราะห์จีโนมิกของเชื้อดื้อยาที่เก็บจากคน ปศุสัตว์ และอาหารจากสัตว์ในไทย และภูมิภาคอาเซียนด้วยเทคนิค nanopore sequencing นั้น ลักษณะทางจีโนมของเชื้อในไทย และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน มีความหลากหลาย โดยมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน แสดงถึงการถ่ายทอดหมุนเวียนของยีนดื้อยาของเชื้อดื้อยาในภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่เพียงแค่ยาปฏิชีวนะ ยังมีสารอื่นๆ ที่ทำให้เชื้อพัฒนาการดื้อยา และถ่ายทอดยีน หรือตัวระบุการดื้อยาได้ ส่งผลให้มีการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในฟาร์ม และโรงพยาบาล และโลหะหนักที่ผสมในอาหารสัตว์

“จากข้อมูลเบื้องต้น เราตรวจพบยีนดื้อยาในฝุ่นที่เก็บจากฟาร์มปศุสัตว์ รวมทั้ง ฝุ่นจากเครื่องปรับอากาศในห้องวิจัยอีกด้วย กำลังขยายการวิจัยไปยังคลินิก และโรงพยาบาลสัตว์ เชื้อดื้อยาไม่ได้พบในสัตว์ และอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น ดังนั้น การใช้มาตรการยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์เพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งหมดได้” ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ กล่าว

ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในปศุสัตว์ให้มีประสิทธิภาพต้องทำหลายอย่าง และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องทั้งสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงควรบูรณาการภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ต้องแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image