‘ตรีนุช’ จี้องค์กรหลัก ทำแผนดึงเด็กตกหล่นเข้าเรียน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. เพื่อติดตามการดำเนินการตามนโยบายของ ศธ. ว่าตนได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโครงการพาน้องกลับมาเรียน เพื่อส่งเสริมโอกาส สร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา ซึ่งจะมีการจัดทำแอพพลิเคชั่นเพื่อปักหมุดและดึงเด็กตกหล่นเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยมอบมหายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ไปจัดทำแผนการทำงานว่าจะบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างไรเพื่อดึงเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา นอกจากนี้ ในส่วนภูมิภาคจะต้องทำงานสอดรับกับนโยบายที่ให้ไปด้วย โดยให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ละจังหวัด เข้ามาช่วยติดตามเด็กเข้าระบบอีกทางหนึ่ง

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพชุมชน เบื้องต้นไม่สามารถทำได้พร้อมกันทั้ง 30,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ทาง สพฐ.มีแผนการดำเนินการอยู่แล้ว เช่น มีการเปิดตัวโรงเรียนคุณภาพเฟสแรกไปแล้ว 349 แห่ง โดยอยากให้ไปรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมว่าเขตพื้นที่ฯใด ควรนำมาเพิ่มเป็นจุดเน้นที่จะพัฒนาโรงเรียนคุณภาพให้สามารถจับต้องได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้โรงเรียนโดยรอบมาใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งนี้ เน้นย้ำ สพฐ.ไปว่าหากพบปัญหา เช่น นักเรียนไม่มีค่ารถเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนแม่ข่าย หรืออะไรที่เป็นอุปสรรค ก็ให้เร่งแก้ไขปัญหาในทุกประเด็น

“ดิฉันคิดว่าการสร้างโรงเรียนคุณภาพจะต้องสร้างให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ โดยส่วนกลางจะให้เป้าหมายไป และให้แต่ละพื้นที่ออกแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของตน เพราะเราไม่สามารถตัดเสื้อตัวเดียวมาให้แต่ละพื้นที่ไปปฏิบัติตามได้ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน และอยากให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนร่วมกับโรงเรียนด้วย ที่ผ่านมาดิฉันได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนคุณภาพ เพื่อจะรับฟังเสียงสะท้อนของแต่ละพื้นที่ว่ามีความต้องการพัฒนาตนเองแบบไหนด้วย นอกจากนี้ ได้ติดตามโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ที่จะรองรับเด็กที่ยากจนประมาณ 5,000 คน เข้ามาเรียนสายอาชีพ ซึ่งดิฉันเน้นย้ำว่าขอให้ สอศ.ทำงานประสานกับ สพฐ.ให้ดี เพื่อให้สถานศึกษาทราบจำนวนเด็ก ทราบปัญหาของเด็ก ทราบความต้องการของผู้เรียนว่าต้องการเรียนสาขาไหน  เพื่อให้อาชีวะสามารถรองรับให้เด็กเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้” น.ส.ตรีนุชกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image