สอศ.ชง2.3หมื่นล้านพัฒนาอาชีวะปี66 สุเทพหวั่นถูกหั่น-กระทบนโยบายรัฐบาล

สอศ.ชง2.3หมื่นล้านพัฒนาอาชีวะปี66 สุเทพหวั่นถูกหั่น-กระทบนโยบายรัฐบาล ชี้มติเพิ่มเงินเดือนครูติดขัด-เล็งตัดงบอบรม

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2566 ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นั้น ได้จัดทำคำของบประมาณเสร็จเรียบร้อยแล้วกว่า 23,000 ล้านบาท เป็นไปตามหลักการจัดทำคำของบประมาณ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่างบที่เคยได้รับในปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565 สอศ.ได้รับงบประมาณกว่า 23,000 ล้านบาท จากที่ขอไปกว่า 26,000 ล้านบาท แต่ถูกตัดลดลงเรื่อยๆ สำหรับงบปี 2566 ที่ขอไปจะเน้นการพัฒนาการจัดการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีหลายโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ หรืออาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรี มีอาชีพ การขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา รวมถึงการสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ต้องดูแลผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่มีฐานะยากจนให้สามารถเข้าถึงการศึกษา มีอาชีพ เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

“งบประมาณที่ สอศ.ตั้งไปจะเน้นพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาการจัดการศึกษาตามนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก คาดว่าจะถูกปรับลดลงอีกเช่นเดียวกับทุกปี ยอมรับว่าการที่ถูกตัดงบทำให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างมากเพราะงบที่ได้กว่า 70% เป็นงบเงินเดือนบุคลากร อย่างเช่นในปี 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพิ่มขึ้น 450 บาทต่อคนต่อปี จากอัตราเดิม 8,582.50 บาท เป็น 9,032.50 บาทต่อคนต่อปี ครอบคลุมสถานศึกษาอาชีวศึกษา 484 แห่ง นักเรียนระดับ ปวช. 216,488 คน และครู จำนวน 10,893 คนนั้น ก็ติดขัด เนื่องจากรัฐบาลก็ให้เจียดจ่ายจากต้นสังกัด ซึ่ง สอศ.พยายามบริหารจากงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ดีที่สุด โดยที่ผ่านมาพยายามตัดโครงการที่ไม่จำเป็นออกไป อย่างเช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็อาจตัดงบที่เกี่ยวข้องกับการสัมมนา อบรม ที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน” นายสุเทพกล่าว

นายสุเทพกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ สอศ.พบการทุจริต การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สอศ.ที่สนามสอบ จ.ภูเก็ต และพบอดีตครู จ.บุรีรัมย์ รับจ้างสอบที่ศูนย์สอบสนามสอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นั้นได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยทางศูนย์สอบ มธ.ได้ชี้แจงและยืนยันมาตรการป้องกันการทุจริต กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นความรอบคอบของคณะกรรมการที่สามารถจับผู้ทุจริตได้ แต่เพื่อความโปร่งใส สอศ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งเพื่อดูว่าการทุจริตครั้งนี้ทำเป็นกระบวนการหรือไม่ เบื้องต้นดูจากคะแนนสอบไม่ผิดสังเกต เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ก็ต้องรอผลการสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการอีกครั้ง เพราะจะมีการสอบปากคำทั้งตัวผู้เข้าสอบ ผู้รับจ้าง และกรรมการผู้คุมสอบ ส่วนกรณีมีผู้แจ้งเบาะแสแก๊งตกเบ็ดแอบอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นกับผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.เพื่อให้เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สอศ.ได้นั้น ได้มีการแจ้งความดำเนินคดี ส่วนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องได้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัย และคาดว่าจะสามารถสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยเท่าที่ทราบกรณีนี้มีการตกเบ็ดเรียกรับเงินถึงรายละ 6-7 แสนบาท ขณะนี้เจอตัวนกต่อแล้ว เหลือเพียงนำหลักฐานที่ได้ไปขยายผลต่อไป หากพบว่ากระทำความผิดจริงมีโทษวินัยร้ายแรงไล่ออก หรือปลดออกเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image