อ่วม!! ร.ร.-มหา’ลัยเอกชน วิกฤต เด็กเรียนน้อย-ค้างค่าเทอม ต้องลดเงินเดือนครู หลายแห่งเล็งปิดกิจการ

ร.ร.-มหา’ลัยเอกชน อ่วม ผู้ปกครองค้างค่าเทอม ขาดสภาพคล่อง เด็กเข้าเรียนน้อย ต้องลดเงินเดือนครู หลายแห่งเตรียมปิดกิจการ ขณะที่ ม.เอกชน วิกฤตหนัก ปล่อยต่างชาติเทกโอเวอร์ วอนขออุดหนุนรายหัวเหมือนโรงเรียน ดึงอาจารย์ ม.รัฐ ช่วยทำหลักสูตร-พัฒนาบุคลากร

จากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเตรียมแผนแก้วิกฤตโรงเรียนเอกชน เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาช่วยเหลือ เนื่องจากโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จนไม่สามารถรักษาสภาพคล่องเตรียมปิดตัวหลายแห่ง ล่าสุด น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชี้แจงว่า ศธ.ได้ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน เช่น ให้กู้ยืมเงินจากกองทุกส่งเสริมโรงเรียนในระบบ แห่งละไม่เกิน 3,000,000 บาท พร้อมจัดทำรายละเอียด เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้นักเรียนทั้งระบบ เพราะไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมอบให้นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) หาแนวทางช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนนั้น

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นางนวลอนงค์ นวลเขียว นายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาสถานศึกษาเอกชนจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มา 2 ปี โดยช่วงที่ปิดเรียน ทำให้โรงเรียนไม่มีรายได้ ขณะที่รายจ่ายประจำยังอยู่เช่นเดิม ทั้งเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งโรงเรียนรับภาระไม่ไหว จึงต้องลดเงินเดือนครู เพื่อให้โรงเรียนอยู่รอด

นางนวลอนงค์กล่าวต่อว่า ภาพรวมของผู้เรียนโรงเรียนเอกชนใน จ.ปทุมธานี พบว่า 80% มาจากครอบครัวฐานะปานกลาง ไม่ได้ร่ำรวย เมื่อโรงเรียนเปิดเรียนออนไซต์ได้ กลับพบว่ามีนักเรียนเข้ามาเรียนและจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน 60% โดยชำระค่าธรรมเนียมการเรียนของภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 แต่ยังค้างค่าธรรมเนียมการเรียนในภาคเรียนที่ 2/2564 ทำให้เห็นว่าสถานการณ์ของโรงเรียนเอกชนหนักมาก โดยใน จ.ปทุมธานี มีโรงเรียนเอกชน 1 แห่ง เตรียมปิดกิจการ แต่ไม่สามารถปิดได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ที่กำหนดว่าถ้าโรงเรียนจะเลิกกิจการ ต้องจ่ายค่าชดเชยด้วย ทั้งที่ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนไม่มีเงินแล้ว ขนาดต้องลดเงินเดือนครูเพื่อให้โรงเรียนอยู่รอด

“ภาพรวมเด็กลดลงทุกปี ปีการศึกษา 2565 ไม่ต้องพูดถึง ขณะนี้ยังไม่มีคนเข้ามาสมัครเรียนเลย คาดว่าเด็กจะสมัครเข้ามาน้อย โรงเรียนเอกชนเจอปัญหาหนักหนามาก ที่ผ่านมาภาครัฐช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนหรือไม่ จะพบว่าภาครัฐช่วยเหลือเฉพาะผู้ปกครอง และนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในทุกสังกัด ทั้งภาครัฐ และเอกชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของประชาชน 2,000 บาทต่อคน ในภาคเรียนที่ 1/2564 ส่วนของโรงเรียนช่วยเหลือบ้าง เช่น พยายามแก้ไขระเบียบการใช้เงินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เงินในส่วนนี้โรงเรียนไม่ได้ใช้ จึงปรับให้นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายซื้อสื่อ แบบเรียน แบบฝึกให้เด็ก ทำให้โรงเรียนได้แบ่งเบาภาระลงได้ เป็นต้น” นางนวลอนงค์กล่าว

Advertisement

นางนวลอนงค์กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้นักเรียนโรงเรียนเอกชนได้รับ 100% จะทำให้โรงเรียนไม่ต้องไปเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนกับผู้ปกครอง ลดภาระผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง และจะช่วยให้นักเรียนอยู่ได้ นอกจากนี้ ควรเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันให้นักเรียนด้วย เพื่อลดภาระผู้ปกครองและโรงเรียนอีกทางหนึ่ง
“แม้ ศธ.จะบอกว่าได้เปิดให้โรงเรียนเอกชนในระบบที่รับเงินอุดหนุนรายหัว กู้ยืมเงินจากกองทุกส่งเสริมโรงเรียนในระบบ ไม่เกิน 3,000,000 บาทต่อแห่ง คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ 3 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในการบริหารกิจการโรงเรียน แต่ในความเป็นจริง โรงเรียนเอกชนขนาดเล็กไม่สามารถกู้ยืมเพื่อรักษาสภาพคล่องได้ เพราะติดระเบียบข้อกฎหมาย” นางนวลอนงค์กล่าว

นายธีร์ สังขสัญญา ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) จ.กระบี่ และผู้อำนวยการโรงเรียนสังข์ทองวิทยา กล่าวว่า ปัญหาหลักๆ ที่เจอในสถานการณ์การแพร่ระบาด คือครู และอุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม ประกอบกับโรงเรียนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเท่าเดิม อย่างโรงเรียนตนต้องจ่ายเงินเดือนครู และบุคลากร ประมาณ 4 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐ ประมาณ 3 ล้านบาท ทำให้โรงเรียนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งขอความร่วมมือให้ครูลดเงินเดือน หรือพักงานพนักงานบางส่วน ถ้ารัฐบาลตั้งใจ และพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือประชาชน ควรจะเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนโรงเรียนเอกชน เพื่อให้โรงเรียนเกิดสภาพคล่อง

“ขณะนี้พบว่าโรงเรียนเอกชนในภาคใต้บางแห่งเริ่มยื้อต่อไม่ไหว และพยายามหาทุนเพื่อช่วยเหลือกัน แต่ถ้าทิ้งปัญหาต่อไปอีก 1 ปี และโรงเรียนเอกชนยังอยู่ในสภาพนี้อยู่ ก็อาจมีโรงเรียนโรงเรียนหลายแห่งไปต่อไม่ไหว” นายธีร์กล่าว

Advertisement

ด้าน ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะนายกสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด เท่าที่ทราบมีบางแห่งให้ต่างชาติเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการบ้างแล้ว ที่ผ่านมารัฐเข้ามาช่วยเหลือโดยการช่วยพัฒนาบุคลากร ช่วยจัดทำหลักสูตรแนวใหม่ ทั้งนี้ อยากให้รัฐพิจารณาช่วยเหลือมหาวิทยาลัยเอกชนใน 3 ประเด็น คือ 1.ช่วยเหลือเรื่องบุคลากร อย่างในโรงเรียนเอกชน รัฐจะเข้ามาช่วยเหลือให้เงินอุดหนุนรายหัว เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบุคลากรของโรงเรียนเอกชน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายครอบคลุมถึงสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และขอให้ช่วยส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาด้วย

ดร.พรชัยกล่าวต่อว่า 2.ให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์พิเศษ เข้ามาช่วยปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นเวลา 2 ปีได้หรือไม่ โดยให้มาช่วยพัฒนาเรื่องด้านต่างๆ ให้กับสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งจะทำให้การพัฒนารวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้อุปกรณ์ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน และ 3.การจัดทำหลักสูตรพัฒนาบุคลากร ทั้งรัฐและภาคอื่นๆ ที่ขณะนี้ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน เพราะกฎระเบียบต่างๆ เอื้ออำนวยต่อสถาบันของรัฐมากกว่า เช่น การพัฒนาบุคลากร ภาครัฐจะทำได้ทันที แต่ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนจะต้องพัฒนาบุคลากรโดยนำบุคลากรไปพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นต้น ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

“อยากให้มองว่าผู้เรียนไม่ใช่เป็นของใคร คนใดคนหนึ่ง แต่ผู้เรียนจะจบมาเป็นตัวแทนของประเทศชาติ ถ้าปัญหาถูกปล่อยไว้ และไม่ได้รับการช่วยเหลือ จะเหมือนกิจการทุกอย่างที่จะมีโอกาสแย่ลง ดังนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลิกคิดว่าที่ไหนเป็นของรัฐ ที่ไหนเป็นของเอกชน แต่เข้ามาช่วยกันเพื่อให้กิจการต่างๆ สามารถอยู่ต่อไปได้” ดร.พรชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image