สพฐ. ผนึกกำลังขับเคลื่อน Active Learning แก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้

สพฐ. ผนึกกำลังขับเคลื่อน Active Learning แก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานและบรรยายพิเศษการประชุมจัดทำแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และการพัฒนาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของผู้เรียนโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นคณะทำงานการจัดทำแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้เชิงรุกActive Learning สู่สมรรถนะผู้เรียน รวมทั้งสิ้น 80 คน ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่เราได้เผชิญกับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้นักเรียนจำนวนมากพบกับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ซึ่งจากการวิจัยของสภาการศึกษา พบว่า นักเรียนในระดับต่างกัน จะพบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น ในระดับประถมศึกษา พบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในด้านความรู้การอ่าน คณิตศาสตร์ และคุณลักษณะของนักเรียน ส่วนในระดับมัธยมศึกษา พบว่า มีความถดถอยทั้งในด้านความรู้ การเชื่อมโยงความรู้ สภาวะทางอารมณ์ สัมพันธภาพ โดยมีสาเหตุที่หลากหลาย ทางด้านครูและผู้ปกครองก็ได้รับผลกระทบจากการต้องปรับตัวต่อการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้และการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดดังนั้น การมีตัวอย่างแนวทางการจัดการเรียนการสอนสำหรับครูและผู้เรียนที่ชัดเจน จะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะครูผู้สอน สามารถคลายความกังวล และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อว่า สพฐ. มีแนวคิดที่จะลดช่องว่างปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งด้านความรู้พื้นฐานที่จำเป็น กระบวนการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และอื่นๆ โดยดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรก เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และเติมเต็มด้วยตนเองนอกห้องเรียน ด้วยการทำกิจกรรมในรูปแบบที่สนุกสนาน ส่วนที่สอง สร้างความเข้าใจและส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูผู้สอนในลักษณะของ Active Learning ที่ให้ความสำคัญกับสมรรถนะของผู้เรียนซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของนักเรียน และวิเคราะห์กรอบแนวคิด (Concept) สำคัญของ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และภาษาต่างประเทศ (วิชาภาษาอังกฤษ) ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษา เพื่อนำมาออกแบบกิจกรรมสำหรับนักเรียน และจัดทำแนวทางการจัดการเรียนรู้ Active Learning ให้เกิดสมรรถนะ พร้อมทั้งเชื่อมโยงเนื้อหาให้มีความหมาย ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าต่อสิ่งที่เรียนรู้และสามารถนำไปใช้ได้จริง สอดคล้องกับแนวทาง “3 : 3 : 4” นั่นคือ 3 กลุ่มทักษะในศตวรรษที่21 ได้แก่ กลุ่มทักษะพื้นฐาน กลุ่มทักษะด้านการจัดการปัญหา และกลุ่มทักษะด้านคุณลักษณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสร้างคุณลักษณะที่จะปลูกฝังให้นักเรียนสามารถเผชิญสถานการณ์ที่กำลังผันผวนในอนาคตได้ รวมถึง 3 ตัวชี้วัดของเลขาธิการ กพฐ. ได้แก่ 1. องค์ความรู้ 2. ทักษะอาชีพ 3.ทักษะชีวิต และน้อมนำพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 ทั้ง 4 ด้าน มาเป็นหลักคิดสำคัญในการพัฒนา ได้แก่ 1.มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงมีคุณธรรม 3.มีงานทำมีอาชีพ 4.เป็นพลเมืองที่ดี

การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาด้วยการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครู ให้คำนึงว่าเราจะสอนอย่างไรให้ไปถึง Ultimate Outcome โดยจัดการเรียนการสอนในแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียน อาทิ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการตัวชี้วัด บูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพิ่มทัศนคติและคุณค่า (Attitude & Value) ด้วยกระบวนการActive Learning, การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning โดยเริ่มจากตัวอย่างที่ง่ายที่สุดใกล้ตัวนักเรียนมากที่สุด มีความหมายกับนักเรียนมากที่สุด ให้เวลานักเรียนได้จัดระบบความคิดของตนเองต่อยอดจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และเกิดนวัตกรรมในที่สุด หรือการจัดระบบนิเวศ (Ecosystem) ในโรงเรียนที่เหมาะสม ทั้งสถานที่ บริบท เวลา ให้เอื้อต่อการเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่แนวทางการเติมความรู้ให้กับนักเรียนที่เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้นั้น สพฐ. โดย นายอัมพร พินะสาเลขาธิการ กพฐ. ได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนการเติมเต็ม Learning loss ในแบบองค์รวม ทั้งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ด้วยกระบวนการ Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยแนวทาง 2 ด้าน คือ การรวมครูเพื่อศิษย์ ผ่านกระบวนการ PLC ที่มีคุณภาพ เน้นการปฏิบัติ ร่วมกันหาทางแก้ไข ส่งเสริม พัฒนา ต่อยอดศักยภาพของนักเรียน และการวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคล ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลผลการเรียน การพักอาศัยในครอบครัวประวัติการส่งงาน ก็จะทำให้การเติมเต็ม Learning Loss ได้เป็นรายบุคคล และตรงตามสิ่งที่นักเรียนขาดหายไปได้อย่างแท้จริงนางเกศทิพย์ กล่าว

Advertisement

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อว่ส สพฐ. พยายามหาแนวทางที่หลากหลายให้กับครูในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างเช่นครั้งนี้ที่ทำในมิติของการเชื่อมโยงกับหลักสูตรให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เสมือนเป็นการเปิดโลกให้กับการเติม Learning Loss โดยสิ่งที่ต้องการเน้นย้ำ คือ การใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูในสถานการณ์ปัจจุบัน ถือเป็นช่วงนาทีทองที่จะพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามเป้าหมายทั้งในระดับชาติและระดับสากล ผ่านกระบวนการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ด้วย Active Learning อีกทั้งการรวมผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และครูในครั้งนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะร่วมกัน PLC ผ่านกระบวนการคิด วิพากษ์ ให้เกิดแนวปฏิบัติการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning ที่ชัดเจน และกลายเป็นตำราเดินได้ พร้อมใช้ พร้อมปฏิบัติ ช่วยครูทั้งประเทศได้เติมเต็ม Learning Loss ทำให้เกิด Impact ต่อคุณภาพนักเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image