เสียงแตกเลิกสอบ ‘3 ทักษะ’ ขอตั๋ว ‘สมพงษ์’ ค้าน ฟันธงคุรุสภาประหยัดงบ ‘อดิศร’ เชียร์โละทดสอบ ‘วิชาชีพครู’ ด้วย

เสียงแตกเลิกสอบ ‘3 ทักษะ’ ขอตั๋ว ‘สมพงษ์’ ค้าน ฟันธงคุรุสภาประหยัดงบ ‘อดิศร’ เชียร์โละทดสอบ ‘วิชาชีพครู’ ด้วย

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เปิดรับฟังความเห็นเรื่องการปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ผ่านระบบออนไลน์ พบว่า สถาบันผลิตครู นิสิต นักศึกษา และประชาชนกว่า 90% เห็นด้วยที่จะมีการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่อไป แต่ให้ลดวิชาที่สอบเหลือเพียง 2 วิชา คือ วิชาชีพครู และวิชาที่สอน ส่วนวิชาทักษะภาษาไทย ทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้ใช้การรับรองหลักสูตรแทน โดยคุรุสภาจะเสนอให้คณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาเห็นชอบต่อไปนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย มองว่าเหตุผลหลักที่คุรุสภาต้องการยกเลิกการสอบทั้ง 3 วิชา เพราะต้องการประหยัดงบประมาณ มากกว่าเหตุผลที่บอกว่ามีผู้สอบผ่านจำนวนมาก

“คุรุสภาควรกลับไปดูด้วยว่าสาเหตุที่ผู้สอบส่วนใหญ่ สอบวิชาทักษะภาษาไทยผ่านกว่า 95% นั้น ข้อสอบมีมาตรฐาน เชื่อถือได้หรือไม่ แต่ทำไมวิชาอื่นๆ ถึงสอบไม่ผ่านจำนวนมาก คุรุสภาถือเป็นองค์กรที่ดูแลวิชาชีพ ดูภาพรวม และส่งเสริมให้ครูมีความสมบูรณ์ในทุกด้าน ดังนั้น การวัดและประเมินผลเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ต้องมีหลักการ ไม่ควรให้ครูเลือกสอบตามใจของตน” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า องค์กรควบคุมวิชาชีพในสาขาต่างๆ ถูกตั้งขึ้นเพื่อควบคุมความประพฤติให้ผู้ประกอบวิชาชีพ มีจรรยาบรรณ และควบคุมมาตรฐานวิชาชีพไว้ด้วย ส่วนตัวเห็นด้วยที่คุรุสภาจะลดการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯเหลือแค่ วิชาชีพครู และวิชาที่สอน แต่ในบริบทปัจจุบัน มองว่าคุรุสภาควรจัดสอบเฉพาะวิชาที่สอน เพราะต้องวัดสมรรถนะการสอนวิชาเอกของผู้ที่จะมาเป็นครูทุกคน แม้ที่ผ่านมาสถาบันผลิตครูจะผลิตบุคลากรเหล่านี้มาแล้ว แต่ปัจจุบันอาจผลิตออกมาได้ไม่เข้มแข็งพอ ดังนั้น ควรจะสอบวิชาที่สอน เพื่อสอบวัดความรู้ของครูเหล่านี้โดยตรง

“ส่วนการสอบวิชาชีพครู ก็ควรตัดออก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะวัดเรื่องเหล่านี้ได้ แต่ที่คุรุสภาต้องการทดสอบด้วย เพราะคุรุสภาเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องมาตรฐาน จรรยาบรรณครู จึงควรจัดสอบวิชาชีพครูด้วย ซึ่งโดยหลักการแล้ว ถือเป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริง ความเป็นครูไม่สามารถวัดได้ด้วยข้อสอบ ผมมองว่าเมื่อไม่สามารถวัดได้ แต่ยังต้องการสอบวิชาชีพครูอยู่ ก็ควรเปลี่ยนรูปแบบการการวัดและประเมินผลให้ดี ต้องไม่ใช้การสอบแบบปรนัย ควรจัดข้อสอบให้มีความแตกต่างในระดับคะแนน เช่น ตอบตรงที่สุดได้ 3 คะแนน รองลงมาได้ 2 คะแนน และตอบตรงน้อยสุดได้ 1 คะแนน เป็นต้น” ผศ.ดร.อดิศรกล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.อดิศรกล่าวต่อว่า การวัดวิชาชีพครูเป็นเรื่องยาก เพราะการตอบคำถาม เมื่อครูเจอสถานการณ์จริง ครูจะปฏิบัติต่างกันแน่นอน ควรให้หน่วยผลิตครูฝึกฝนบุคลากรก่อน และค่อยส่งต่อให้หน่วยที่ใช้งาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นต้น มากำกับดูแลวิชาชีพครูต่อไป ส่วนคุรุสภาควรส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม มาตรฐานวิชาชีพครูควบคู่กันไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image