ยอดเข้ามหา’ลัย รอบ 1-2 กว่า 1.2 แสนคน ผจก.ทีแคสปลื้ม สละสิทธิลด-แห่ยืนยันสิทธิพุ่ง

ยอดเข้ามหาวิทยาลัย รอบ 1-2 กว่า 1.2 แสนคน ผจก.ทีแคสปลื้ม สละสิทธิลด แห่ยืนยันสิทธิพุ่ง ใช้ ‘GPAX-TGAT-TPAT’ รอบพอร์ตโฟลิโอ ปี’66

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทปอ.เปิดรับสมัครทีแคส ปีการศึกษา 2565 รอบที่ 1 พอร์ตโฟลิโอ รอบที่ 2 โควต้า และรอบที่ 3 แอดมิสชั่นส์ เรียบร้อยแล้ว โดยรอบที่ 1 เปิดรับ 204,125 ที่นั่ง มีผู้สมัคร 156,471 คน ผ่านการคัดเลือก 111,926 คน ยืนยันสิทธิ 85,548 คน สละสิทธิรอบแรก 857 คน สละสิทธิรอบ 2 3,059 คน เข้าศึกษาต่อ 81,632 คน รอบที่ 2 เปิดรับ 116,297 ที่นั่ง มีผู้สมัคร 106,577 คน ยืนยันสิทธิ 44,985 คน สละสิทธิ 348 คน เข้าศึกษาต่อ 44,637 คน ส่วนการสมัครรอบที่ 3 ได้ปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างเคลียริ่งข้อมูล โดยจะประกาศผลการคัดเลือกรอบที่ 3 วันที่ 18 พฤษภาคม และให้ยืนยันสิทธิวันที่ 18-19 พฤษภาคมนี้

“รอบที่ 1 และ 2 มีผู้สละสิทธิลดลงจากปีที่ผ่านมาจำนวนมาก เพราะ ทปอ.ได้กำหนดการบริหารจัดการสิทธิไว้ว่า สามารถสละสิทธิในระบบได้ 1 ครั้ง จึงทำให้ผู้สมัครได้วางแผน รู้ความต้องการของตน และตัดสินใจดีขึ้นมากกว่าปีก่อนๆ อย่างรอบที่ 1 มีผู้ยืนยันสิทธิมากกว่าปีการศึกษา 2564 เกือบ 10,000 คน เพราะนักเรียนรู้ตัวเองเร็ว ประกอบกับมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครรอบนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการคนที่สนใจ และต้องการเรียนจริงๆ จึงทำให้มีผู้ยืนยันสิทธิมากกว่าปีที่ผ่านมา” ดร.พีระพงศ์ กล่าว

ดร.พีระพงศ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ทีแคส ปีการศึกษา 2566 มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปรับการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT ความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และวิชาสามัญ มาเป็นการสอบ 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 วัดความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test หรือ TGAT) ซึ่งก็คือการสอบวิชา GAT ที่จากเดิมสอบวัดความรู้ 2 ส่วน จะเพิ่มเป็นการวัดความรู้ 3 ส่วน คือ การสื่อสารภาษาอังกฤษ, การคิดอย่างมีเหตุผล และสมรรถนะการทำงาน และการวัดความถนัดวิชาชีพ (Professional Aptitude Test หรือ TPAT) ส่วนกลุ่มที่ 2 คือวัดความรู้เชิงวิชาการ (Applied Knowledge Level หรือ A-Level) ไม่สอบเนื้อหาความรู้เชิงวิชาการที่เกินหลักสูตร จะวัดความรู้เชิงประยุกต์ หรือการสอบวิชาสามัญ เดิมสอบ 9 วิชา แต่เปลี่ยนโดยเพิ่มจำนวนวิชาสอบ 15 วิชา ทั้งนี้ ในการสมัครรอบที่ 1 จากเดิมที่ให้ผู้สมัครยื่นผลงานให้มหาวิทยาลัยพิจารณาเท่านั้น แต่ทีแคสปีการศึกษา 2566 จะพิจารณาจากผลงาน และอาจใช้คะแนนวัดความถนัด GPAX, TGAT และ TPAT มาประกอบการพิจารณาด้วย

“หลังจากออกประกาศไป มีคำถามเข้ามาบ้าง สาเหตุที่ต้องสอบด้วย เพราะที่ผ่านมามหาวิทยาลัยไม่มั่นใจว่าผลงานที่ผู้สมัครเสนอนั้น เป็นผลงานของผู้สมัครจริงหรือไม่ จึงขอทดสอบความถนัดของผู้สมัครด้วย และที่ผ่านมามีนักเรียนส่วนหนึ่ง ไม่รู้ว่าตนถนัดด้านใด ในขณะที่โรงเรียนไม่มีเครื่องมือวัดความถนัดให้เด็กด้วย แต่ปัจจุบัน ทปอ.มีเครื่องมือวัดความถนัดเหล่านี้แล้ว คือการสอบ TGAT และ TPAT ซึ่งการสอบนี้ ไม่ได้วัดความเก่ง แต่จะวัดความถนัดเฉพาะด้านของนักเรียน ทั้งนี้ ทปอ.จะทำความเข้าใจกับนักเรียนต่อไป” ดร.พีระพงศ์ กล่าว

Advertisement

ดร.พีระพงศ์กล่าวต่อว่า สำหรับการควานหาคนทุจริตการสอบ GAT และ PAT ในวิชา PAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ และวิชา PAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ที่พบว่ามีการใช้อุปกรณ์ไฮเทคถ่ายภาพข้อสอบทั้ง 2 วิชา และนำไปเผยแพร่ในแอพพลิเคชั่นหนึ่ง ซึ่งเป็นแอพพ์สำหรับเฉลยข้อสอบในช่วงวันเวลาเดียวกับการสอบ ในการสอบครั้งที่ผ่านมานั้น ทปอ.ไม่นิ่งนอนใจ อยู่ระหว่างสืบค้น สาเหตุที่ล่าช้า เพราะต้องตรวจสอบหลายอย่าง เช่น ตรวจสอบกระดาษคำถามทั้งหมด แต่ยังไม่พบร่องรอย ขณะนี้ ทปอ.อยู่ระหว่างติดต่อแอพพลิเคชั่นดังกล่าวอยู่ นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการทางกฎหมาย ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image