หนุนปรับระบบ-แบ่งประเภท ‘ตั๋วครู’ ปธ.กมว.ชี้สอดรับการออก ‘ใบอนุญาตเฉพาะ’

หนุนปรับระบบ-แบ่งประเภท ‘ตั๋วครู’ ปธ.กมว.ชี้สอดรับการออก ‘ใบอนุญาตเฉพาะ’ ด้านนักวิชาการห่วงคนพลาด ‘ตั๋วชั้นต้น’ ต้องทำหน้าที่ธุรการ

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการคุรุสภามีมติเห็นชอบร่างแนวทางการปรับปรุงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น หรือ B-license (Basic Professional Teaching License) ถ้าสอบไม่ผ่าน จะต้องปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่น ไม่สามารถทำหน้าที่สอนได้ สำหรับผู้ที่ได้ B-license แล้ว เมื่อพัฒนาตัวเองจนได้รับวิทยฐานะระดับชำนาญการขึ้นไป จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง หรือ A-license (Advanced Professional Teaching License) โดยอัตโนมัตินั้น ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะเท่าที่ดูการดำเนินการมีขั้นตอนที่ชัดเจน ทำให้เห็นว่าใบอนุญาตฯ สำคัญ จะได้รับตามระดับ และการพัฒนาตัวเอง ทำให้ครูทุ่มเทการทำงาน คู่ขนานไปพร้อมๆ กับการทำวิทยฐานะ ส่วนจุดอ่อน และข้อควรระวัง คือระบบนี้กว่าจะได้ใบอนุญาตฯ มีการสอบค่อนข้างมาก อาจทำให้เกิดธุรกิจ จัดติว หรืออบรม เพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯ กลายเป็นธุรกิจให้กลุ่มคนเข้ามาหาผลประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่แก่นสาระที่แท้จริงของวิชาชีพโดยตรง

“กรณีที่สอบ B-license ไม่ผ่าน แล้วต้องไปปฏิบัติหน้าที่อื่น ไม่สามารถทำหน้าที่สอนได้นั้น อาจทำให้เกิดความลักลั่น ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะหากสอบไม่ได้แล้วต้องไปปฏิบัติหน้าที่อื่น อาทิ ธุรการ ก็อาจเสียกำลังใจ ดังนั้น อาจต้องไปดูองค์ประกอบอื่นประกอบการพิจารณาด้วย เช่น การปฏิบัติการสอน หรือช่องทางอื่นๆ เพื่อให้การได้มาซึ่งใบอนุญาตฯมีคุณค่า และมีความภูมิฐาน” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า การปรับปรุงระบบใบอนุญาตฯ มีข้อดีดังนี้ เปิดให้ผู้ที่สอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯชั้นต้นไม่ผ่าน มีโอกาสทำงานในหน้าที่ครูได้ โดยขอใบรับรองการปฏิบัติการสอนเพื่อมาสอน ส่วนการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯชั้นต้น จะปรับให้เหลือการสอบวิชาชีพครู และวิชาที่สอน ส่วนวิชาทักษะภาษาไทย วิชาทักษะภาษาอังกฤษ และวิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์บังคับของการรับรองปริญญา และประกาศนียบัตรทางการศึกษา

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับใบรับรองการปฏิบัติการสอน จะมีระยะเวลา 2 ปี เพื่อใช้สอบบรรจุครูผู้ช่วย เมื่อได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยแล้ว จะมีเวลาพัฒนาตนเองเพื่อเลื่อนฐานะจากครูผู้ช่วยมาเป็นครู ซึ่งต้องรับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบอนุญาตฯชั้นต้น ทั้งนี้ กมว.มองว่าไม่ควรจะต่ออายุใบรับรองการปฏิบัติการสอน เพราะถ้าเปิดให้ต่ออายุเหมือนใบอนุญาตปฏิบัติการสอนชั่วคราว ที่ครูขอต่ออายุได้ทุกๆ 2 ปี จะทำให้ครูไม่กระตือรือร้น และไม่ยอมสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯชั้นต้น การกำหนดเงื่อนไขเวลาไว้ และไม่ให้ต่อใบรับรองการปฏิบัติการสอน จะทำให้มีความพยายามมากขึ้น

Advertisement

“การปรับปรุงระบบใบอนุญาตฯ จะสอดรับกับการดำเนินการของ กมว.ที่เปลี่ยนแปลงการออกใบอนุญาตฯ ที่ต่อไปจะเฉพาะเจาะจงตามระดับที่สอนมากขึ้น เช่น ใบอนุญาตฯครูปฐมวัย ใบอนุญาตฯครูอาชีวะ เป็นต้น ซึ่งจะได้ครูที่ตรงระดับที่สอนเพิ่มมากขึ้น และการปรับครั้งนี้จะเชื่อมโยงการทำงานในทุกหน่วยงาน ตั้งแต่หน่วยผลิตถึงหน่วยที่ใช้ครู พร้อมกับเชื่อมโยงระบบการออกใบอนุญาตฯของคุรุสภา กับระบบวิทยฐานะของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้เป็นระบบเดียวกันด้วย” ดร.เอกชัยกล่าว

ดร.เอกชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้ ก.ค.ศ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลครูทั้งประเทศ จะทำให้ทราบตัวเลขความต้องการครูในอนาคต โดยสถาบันผลิตครูจะนำข้อมูลนี้ไปผลิตครูให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ดังนั้น การปรับครั้งนี้จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานบูรณาการร่วมกันได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำงานเหมือนที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image