‘อดิศร’ ค้านรื้อระบบออก ‘ตั๋วครู’ ชี้เปลี่ยนจนงง หวั่นไม่กล้าประเมินตก จี้ฝ่ายการเมืองห้ามนั่ง ‘ปธ.คุรุสภา’

‘อดิศร’ ค้านรื้อระบบออก ‘ตั๋วครู’ ชี้เปลี่ยนจนงง หวั่นไม่กล้าประเมินตก แนะฝ่ายการเมืองห้ามนั่ง ‘ปธ.คุรุสภา’

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการคุรุสภามีมติเห็นชอบร่างแนวทางการปรับปรุงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น หรือ B-license (Basic Professional Teaching License) ถ้าสอบไม่ผ่าน จะต้องปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่น ไม่สามารถทำหน้าที่สอนได้ สำหรับผู้ที่ได้ B-license แล้ว เมื่อพัฒนาตัวเองจนได้รับวิทยฐานะระดับชำนาญการขึ้นไป จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง หรือ A-license (Advanced Professional Teaching License) โดยอัตโนมัตินั้น มองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่ผ่านมาหลักการในการขอใบอนุญาตฯ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนทำให้ประชาชนสับสน งุนงง เมื่อประชาชนเกิดความสับสน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ควรจะกลับมาคำนึงถึงหลักการ ว่าควรจะเปลี่ยนหลักการในการออกใบอนุญาตฯ ดีหรือไม่

“แม้ว่าโดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องดี แต่หลักการสำคัญในการออกใบอนุญาตฯ ไม่ควรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะจะทำให้ประชาชนมึนงง ผมมองว่าองค์กรวิชาชีพ ไม่ควรจะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นประธาน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่ตลอด ทั้งนี้ ขอให้ลองย้อนกลับไปดูสภาวิชาชีพอื่นๆ ด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงระบบการออกใบอนุญาตฯ บ่อยเท่ากับวิชาชีพครูหรือไม่ ผมคิดว่าคุรุสภาเปลี่ยนระบบการออกใบอนุญาตฯ บ่อยมากจนเกินไป ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เกิดความสับสน” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

ผศ.ดร.อดิศรกล่าวต่อว่า เมื่อมาดูสาระสำคัญที่จะเปลี่ยนหลักการในการออกใบอนุญาตฯ คือให้ผู้ที่จบคณะคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มาขอใบรับรองการปฏิบัติการสอน เพื่อนำไปใช้ในการสอบบรรจุครูผู้ช่วย และเมื่อได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยแล้ว จะมีระยะเวลา 2 ปี ในการพัฒนาตนเอง เพื่อเลื่อนฐานะจากครูผู้ช่วยมาเป็นครู ซึ่งต้องเข้ารับการทดสอบ และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ครูชั้นต้น แต่เมื่อมาดูสภาพความเป็นจริงของการผลิตครู จะพบว่ามีสถาบันผลิตครูที่คุรุสภาปล่อยให้ผลิตครูอย่างไม่เข้มงวดอยู่จำนวนมาก ซึ่งในอนาคตจะส่งผลให้การผลิตครูอ่อนแอ เพราะจะไม่มีการแข่งขัน ไม่มีความเข้มแข็ง และกระทบต่อคุณภาพแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่เรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ สามารถขอเข้ารับการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ตั้งแต่เรียนในระดับชั้นปีที่ 3 และ ปีที่ 4 ถือเป็นการคัดกรองครูด้วยการแข่งขันกันอยู่ เพื่อให้ได้ครูที่มีประสิทธิภาพเข้าสู่ระบบมากขึ้น

“หลังจากที่ครูได้รับ B-license แล้ว พัฒนาตัวเองจนได้รับวิทยฐานะระดับชำนาญการขึ้นไป จะได้รับ A-license คำถามที่ตามมาคือ กระบวนการประเมินต่างๆ ที่ออกมา ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบครูไม่ผ่านการประเมิน จะกล้าประเมินให้ครูตกหรือไม่ กลัวว่าท้ายสุดการประเมิน จะเป็นในลักษณะที่ให้ทุกคนผ่านการประเมินทำหมด มองว่ากระบวนการนี้สร้างความยุ่งยาก เสียเวลา สร้างกระบวนการให้มีหลายขั้นตอนเท่านั้น แต่ท้ายสุดก็ลูบหน้าปะจมูกเหมือนเดิม ผมมองว่าควรจะคงกระบวนการออกใบอนุญาตฯ รูปแบบเดิมไว้ก่อน คือให้มีการแข่งขัน สร้างคุณภาพให้เกิดความเข้มแข็ง และสร้างเครื่องมือที่สามารถวิชาชีพครูให้มีประสิทธิภาพก่อนดีกว่า” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image