ปธ.กมว.แจงข้อดีรื้อระบบออกตั๋วครู ยันไม่สับสน ค้าน ‘นักการเมือง’ นั่งสภาวิชาชีพ-ชี้ขาดอิสระ

ปธ.กมว.แจงข้อดีรื้อระบบออกตั๋วครู ยันไม่สับสน-เปิดโอกาส น.ศ.ครุฯ ทดลองสอน ค้าน ‘นักการเมือง’ นั่งสภาวิชาชีพ-ชี้ขาดอิสระ

ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า กรณีที่นักวิชาการด้านการศึกษาคัดค้านแนวทางการปรับปรุงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) เมื่อได้ใบรับรองการปฏิบัติการสอน จะมีระยะเวลา 2 ปี ในการพัฒนาตนเอง เพื่อเลื่อนฐานะจากครูผู้ช่วยมาเป็นครู ซึ่งต้องเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น หรือ B-license (Basic Professional Teaching License) ถ้าสอบไม่ผ่าน จะต้องปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่น ไม่สามารถทำหน้าที่สอนได้ สำหรับผู้ที่ได้ B-license แล้ว เมื่อพัฒนาตัวเองจนได้รับวิทยฐานะระดับชำนาญการขึ้นไป จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง หรือ A-license (Advanced Professional Teaching License) โดยอัตโนมัติ เพราะมองว่าควรทำระบบเดิมที่มีอยู่ให้มีคุณภาพก่อน และนักการเมืองไม่ควรเป็นประธานคณะกรรมการคุรุสภา เพราะนโนยบายจะปรับเปลี่ยนไปมา จนสร้างความสับสนให้ประชาชนนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยที่นักการเมืองไม่ควรเป็นประธานคณะกรรมการคุรุสภา เพราะไม่มีสภาวิชาชีพไหน นำนักการเมืองมาเป็นประธานสภาวิชาชีพ

“ที่ผ่านมามีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 7/2558 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานคณะกรรมการคุรุสภา โดยมีเลขาธิการขององค์กรหลักใน ศธ.เป็นคณะกรรมการ ซึ่งบุคคลเหล่านี้อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อยู่แล้ว ซึ่งทำให้ขาดความเป็นอิสระทางวิชาชีพอย่างแท้จริง” ดร.เอกชัย กล่าว

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า หลักคิดในการปรับปรุงใบอนุญาตฯ ครั้งนี้ คือผู้ที่จบคณะคุรศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ จะได้รับใบรับรองการปฏิบัติการสอน แม้ไม่ผ่านการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพฯ ก็ตาม เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้ได้ผ่านกระบวนการผลิตครูจากสถาบันผลิตครูมาตลอด 4 ปี ผ่านการปฏิบัติการสอน แล้วทำไมคนกลุ่มนี้ถึงจะปฏิบัติการสอนไม่ได้ ควรจะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ทำงานได้ เพราะถ้าคุรุสภาไม่ให้ใบรับรองการปฏิบัติการสอนเลย คนกลุ่มนี้จะไม่มีโอกาสทำงาน และจะไม่มีโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาชีพของตน

“ใบรับรองปฏิบัติการสอนจะอายุ 2 ปี เพื่อให้เวลาคนกลุ่มนี้สอบ B-license ให้ผ่าน โดยจะไม่มีต่ออายุใบรับรองการปฏิบัติการสอน เพื่อให้กระตือรือร้น และสามารถนำประสบการณ์การสอนตลอด 2 ปี มาสอบ B-license นอกจากนี้ การออกใบรับรองการปฏิบัติการสอน จะทำให้โรงเรียนเอกชนได้รับประโยชน์ด้วย จะได้ครูเฉพาะทางมากขึ้น และโรงเรียนสามารถนำครูที่มีใบรับรองการปฏิบัติการสอนเข้าระบบ เพื่อขอรับเงินอุดหนุนรายหัวได้อีกด้วย ส่วนที่วิจารณ์ว่าการปรับระบบครั้งนี้ สร้างความสับสน และยุ่งยากนั้น ที่จริงแล้วไม่ได้สร้างความยุ่งยาก แต่สร้างความภูมิใจในวิชาชีพมากกว่า และเป็นการช่วยเด็กไม่ให้เกิดความเครียดในการสอบเพื่อขอ B-license” ดร.เอกชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image