เครื่องมือทดสอบแรงดึงวัสดุเสริมแรงสังเคราะห์พอลิเมอร์ ฝีมือนักศึกษาวิศวะ มจธ.

ปัจจุบัน “พอลิเมอร์” เข้ามามีบทบาทกับงานวิศวกรรมโยธามากขึ้น หลังราคาเหล็ก และวัสดุก่อสร้างมีราคาพุ่งสูงขึ้น จากการศึกษาวิจัยพบว่าพอลิเมอร์มีความแข็งแรง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทนทาน และนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้ง่ายกว่า ทำให้นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สนใจศึกษาพฤติกรรมของพอลิเมอร์ เมื่อนำมาใช้เป็นวัสดุเสริมแรงในการก่อสร้างกำแพงกันดิน หรือลาดคันทางถนนที่มีเสถียรภาพสูง สามารถต้านทานการวิบัติได้

รศ.วรัช ก้องกิจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ.กล่าวว่า วัสดุเสริมแรงในดินส่วนใหญ่ที่ใช้ในงานก่อสร้างคอสะพานลอยรถข้าม หรือกำแพงกันดิน และลาดคันทางที่รองรับโครงสร้างถนนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมี 2 ประเภทคือ ที่เป็นโลหะ และที่เป็นวัสดุพอลิเมอร์ ในวงการก่อสร้างยุคเริ่มต้นมักใช้โลหะ แม้จะแข็งแรงมาก แต่เมื่อนำมาใช้งานกับดินแล้วค่อนข้างมีปัญหา นอกจากนี้ ยังมีราคาที่สูง ยุคหลังๆ จึงเริ่มคิดค้นการนำวัสดุพอลิเมอร์มาใช้เสริมกำลังในดินแทนโลหะ แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะมีการชำรุดระหว่างการติดตั้ง

มจธ.จึงสร้างเครื่องที่มีชื่อว่า “เครื่องทดสอบแรงดึงวัสดุเสริมแรงสังเคราะห์” สามารถเร่งให้เกิดการคืบด้วยการเพิ่มอุณหภูมิในระหว่างการทดสอบแรงดึงของพอลิเมอร์ ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่าแรงดึงคงเหลือที่อายุการใช้งานที่ออกแบบเหลือเป็นเท่าไรได้ภายในเวลาไม่เกิน 3 วัน เครื่องมือนี้พัฒนาได้สำเร็จด้วยงบประมาณเพียง 1.5 แสนบาท และเคยนำมาใช้จริงแล้วในการทดสอบพอลิเมอร์ 3 แบบให้กับกรมทางหลวง ในการก่อสร้างกำแพงกันดินเสริมแรงต้นแบบที่ จ.พิษณุโลก

ล่าสุดห้องปฏิบัติการเทคนิคธรณี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ.ยังศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับอุณหภูมิที่มีผลต่อวัสดุเสริมแรงพอลิเมอร์ เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือลดลงมีผลถาวรต่อแรงดึงของพอลิเมอร์หรือไม่ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image