จี้สกัดทุจริต ‘แต่งตั้ง-ย้าย’ เบ็ดเสร็จ ‘อดิศร’ แนะ รมว.ศธ.เร่งทำหลังคืนอำนาจ สพท.

จี้สกัดทุจริต ‘แต่งตั้ง-ย้าย’ เบ็ดเสร็จ ‘อดิศร’ แนะ รมว.ศธ.เร่งทำหลังคืนอำนาจ สพท.ใส่บทลงโทษในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า กรณีที่สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีสาระสำคัญคือ ให้อํานาจหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ. ) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูฯ ในเขตพื้นที่ฯ ตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อํานวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้มีอํานาจสั่งบรรจุฯ นั้น คำสั่ง คสช.ดังกล่าว ออกมาเพื่อแก้ปัญหาทุจริต โดยกล่าวหาว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ทุจริตสอบบรรจุแต่งตั้งครู และผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึง ทุจริตโยกย้ายข้าราชการครู และผู้บริหารสถานศึกษา จึงได้ยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไป และมอบอำนาจการบริหารงานบุคคลให้ กศจ.โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

“แต่ในข้อเท็จจริงนั้น การทุจริตสอบบรรจุ และโยกย้าย เกิดขึ้นกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ บางแห่งเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดการทุจริตทั้งประเทศ เมื่อให้อำนาจการบริหารงานบุคคลแก่ กศจ.ในช่วงแรกสามารถแก้ไขปัญหาทุจริตได้ เพราะไม่มีใครกล้า แต่ปัญหานี้ไม่ได้หมดไป เพระปัจจุบันเริ่มมีปัญหาทุจริตเกิดขึ้นแล้ว” ผศ.ดร.อดิศรกล่าว

ผศ.ดร.อดิศรกล่าวอีกว่า การวางโครงสร้างทางการศึกษาต้องมีเป้าหมาย คือการทำงานต้องมีประสิทธิภาพ ถ้าจะแก้ปัญหาทุจริตโดยรื้อทำใหม่ทั้งหมด คือเผาบ้านไล่หนู ไม่ใช่การแก้ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้นๆ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาใหม่ และท้ายสุดจะวนกลับมาปัญหาเดิม ฉะนั้น ในเชิงของโครงสร้างการบริหารองค์กร โดยเฉพาะครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามกฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดไว้ว่าต้องการให้บริหารจัดการในรูปแบบของการกระจายอำนาจไปที่โรงเรียน และเขตพื้นที่ฯ เมื่อกฎหมายวางโครงสร้างไว้เช่นนั้น เขตพื้นที่ฯต้องมีอำนาจเป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งในเรื่องการบริหารงานวิชาการ และการบริหารงานบุคคล ที่ต้องมีอำนาจให้คุณให้โทษในการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย และเลื่อนขั้นเงินเดือน ถ้าเขตพื้นที่ฯไม่มีอำนาจเหล่านี้อยู่ จะทำให้การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ

“เมื่อเอาอำนาจบริหารงานบุคคลของเขตพื้นที่ฯไปให้ กศจ.ที่เป็นหน่วยงานกลาง เท่าที่ผมทราบข้อมูล กศจ.บางแห่ง ทำแต่เรื่องบริหารงานบุคคล แต่งตั้ง โยกย้ายเท่านั้น ไม่ได้ทำงานตามยุทธศาสตร์ที่ส่วนกลางวางไว้ ดังนั้น ผมเห็นด้วยที่จะให้อำนาจการบริหารงานบุคคลกลับไปอยู่ที่เขตพื้นที่ฯจะได้อยู่ถูกที่ถูกทางตามโครงสร้างของการบริหาร แต่ไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะ ศธ.จะต้องจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตด้วย โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่ต้องกำกับ และมีบทลงโทษจริงจัง ผมมองว่าการแก้ไขปัญหานี้ ทำอย่างไรก็ไม่จบ ควรจะหาทางแก้ไขปัญหานี้ให้เบ็ดเสร็จ โดยกำหนดผ่าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาด้วย” ผศ.ดร.อดิศรกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่มีมติเห็นชอบให้แก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ออกมาเวลานี้ เป็นการหาเสียงทางการเมืองหรือไม่ นายอดิศรกล่าวว่า เป็นประเด็นที่นำมาวิเคราะห์ได้ แต่เท่าที่ติดตามข่าว พบว่าพรรคฝ่ายค้านเอง ก็ออกมาเรียกร้อง และขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นกัน จึงไม่มั่นใจว่าเป็นการหาเสียงหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image