รายงานการศึกษา : ชู 10 ผลงานครูไทย ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัล

รายงานการศึกษา : ชู 10 ผลงานครูไทย ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัล

เมื่อความรู้เป็นอาวุธสำคัญในชีวิต AIS Academy จึงพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาให้เด็กไทยได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ที่เด็กไทยต้องปรับตัวเข้าสู่การเรียนในระบบออนไลน์ ดังนั้น ครูในฐานะผู้ถ่ายทอดความรู้ จึงต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือสื่อการสอนในทุกมิติ

โดยเปิดพื้นที่ให้ครูไทยได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง และผลิตสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เพื่อยกระดับการศึกษา ผ่านโครงการ “THE EDUCATORS THAILAND” ร่วมกับ คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และบุคลากรในวงการการศึกษา โดยมีบุคลากรด้านการศึกษา สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน เมื่อจบโครงการ มีถึง 10 ผลงาน จาก 10 คุณครู ที่ได้รางวัลชนะเลิศ และเข้ารับรางวัลถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

น.ส.กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช กล่าวว่า เอไอเอสคำนึงถึงเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเห็นผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องปรับให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ จึงนำศักยภาพของโครงข่ายอัจฉริยะ เข้ามายกระดับดิจิทัลไลฟ์สไตล์ รวมถึง สนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคการศึกษา โดยเข้าไปทำงานร่วมกับภาคการศึกษาในมิติต่างๆ ผ่านโครงการดังกล่าว ที่ส่งเสริม และมองไปที่บุคลากรต้นน้ำของระบบการศึกษาอย่างวิชาชีพครู เพื่อเชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อครูไทย พัฒนาหลักสูตรเสริมทักษะสื่อการเรียนการสอนยุคใหม่ที่มีความสร้างสรรค์ สอดรับกับการศึกษาในยุคดิจิทัลแบบครบวงจร ตั้งแต่วางโครงสร้างหลักสูตร เครื่องมือสื่อการสอน และการวัดประเมินผลผู้เรียน

Advertisement

ผลจากโครงการนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และช่วยปลุกพลังของภาคการศึกษา บุคลากร และครูไทย ที่มาร่วมเปลี่ยนหน้าตากระบวนทัศน์การศึกษาในยุคดิจิทัล ให้เพิ่มพูนความรู้ให้แก่เยาวชนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

นายสุรพจน์ บัวเขียว ครูโรงเรียนคำเตยวิทยา จ.ยโสธร 1 ในผู้ชนะการประกวด เล่าว่า โครงการนี้ทำให้ได้พัฒนาศักยภาพ ต้องการสอนวิชาชีววิทยาให้เด็กเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย หลุดออกจากตัวหนังสือ และการจดบันทึก ผ่านการเรียนรู้จากการทดลองบนสถานที่จริง ตั้งใจว่าจะออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมาย ภายใต้ความหลากหลายของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น บนความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน จึงได้ผลิตสื่อการสอนผ่านผลงาน “วิทย์ชิดทุ่ง Science in the field” ซึ่งไม่เพียงแต่ประเมินผลจากนักเรียนที่มีความเข้าใจ และมีส่วนร่วมอย่างดีแล้ว ยังเปิดกว้างให้นักเรียนทั่วประเทศได้เรียนรู้ผ่านออนไลน์ มองว่าครูไทยยุคดิจิทัล ต้องเป็นทั้งครู และครีเอเตอร์ในคนเดียว ย้ำว่าไม่เพียงเด็กๆ ที่ต้องเรียนรู้ ครูก็ต้องพัฒนาตัวเอง ดังที่ว่า Lifelong Learning ต้องเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

Advertisement

ด้าน นายกฤษณะ วงศ์ริน ครูโรงเรียนแกน้อยศึกษา จ.เชียงใหม่ ผู้ชนะอีกราย กล่าวว่า ตั้งใจผลิตผลงานการสอน TIME MACHINE ย้อยรอยสู่ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย 4 สมัย ในรูปแบบ AR และ VR เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องดนตรีไทยในรูปแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญ เพื่อดึงดูดความสนใจ รวมถึง มีแบบทดสอบสะสมคะแนน เสมือนได้แข่งขันกับตัวเอง และสร้างความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนไปในตัว อีกทั้ง นำศิลปะแขนงต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในสื่อการสอน ทั้งการวาดภาพ และการวาดทราย การร้องกลอนเพื่อสร้างความเข้าใจ เสริมด้วยการแต่งกายตามยุคสมัย โดยนำการตัดต่อเข้ามาช่วย ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากนักเรียน ที่ตื่นเต้นกับสื่อการสอนใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง ค้นพบความสามารถ และก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง กล้าแสดงออกมากขึ้น และบูรณาการไปปรับสอนในรายวิชาอื่นได้ด้วย

สำหรับ น.ส.ศรัญธร พลสวัสดิกุล ครูโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ผู้ชนะที่ได้ถ่ายทอดความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ให้เข้าใจง่ายขึ้นผ่านผลงาน Coding กล่าวว่า สื่อการสอนต้องประยุกต์สิ่งต่างๆ เข้ามา เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย ยิ่งในวิชาที่ซับซ้อนอย่างการเขียน Code ได้นำเกมเข้ามาสอดแทรกให้เกิดการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น และแข่งกับตัวเอง อีกทั้ง ฝึกแนวคิดการคำนวณไปในตัว มองว่าสื่อการสอนออนไลน์มีข้อดีสำหรับผู้เรียนที่ทบทวนบทเรียนซ้ำๆ ได้จนกว่าจะเกิดความเข้าใจ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ตอบโจทย์เด็กที่อาจเรียนไม่ทันเพื่อน การได้ร่วมโครงการในครั้งนี้ เสมือนได้พบปะครูที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ที่ต้องการสร้างสื่อดีๆ ให้กับเด็กๆ และสะท้อนแง่คิดที่ว่า ครูต้องไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องมีการเติมน้ำ หมายถึงเติมความรู้ตลอดเวลา ที่สำคัญต้องวิ่งตามเทคโนโลยีให้ทัน

จากผลงานของ 10 คุณครูที่มีคุณภาพ จะเป็นเครื่องชี้วัดการพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ความสามารถ จุดประกายไอเดียผนวกเข้ากับเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ เป็นการยกระดับบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นต้นน้ำสำคัญ เพื่อหล่อเลี้ยงไปยังปลายน้ำสายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image